พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ณ คลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมให้ข้อมูลด้านสถานการณ์น้ำ พร้อมพบปะประชาชนในพื้นที่ หลังจากนั้น ลงเรือเพื่อตรวจเยี่ยมการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และเป็น Landmark แห่งใหม่ของคนกรุงเทพฯ
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ รัฐบาลได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันการลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำทะเลหนุน ณ คลองโอ่งอ่าง และติดตามการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบคลองผดุงกรุงเกษม โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวางแผนช่วงเวลาในการระบายน้ำ ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนสูง เพื่อลดผลกระทบไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง และให้สามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยเร็ว
ด้าน เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า กอนช. ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง โดยข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พบว่า ช่วงวันที่ 28-31 ต.ค.65 จะเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูงสุดของเดือน ส่วนช่วงเวลาที่จะเกิดน้ำทะเลหนุนสูงจะเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า เวลา 06.00-10.00 น. และช่วงเย็นถึงค่ำ เวลา 16.00-20.00 น. โดยสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงจะยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันที่ 9 พ.ย.65 ทั้งนี้ สทนช. ได้ประสานกรุงเทพมหานคร ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ที่อาจส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายกตัวขึ้นสูงได้ ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อาจได้รับผลกระทบในช่วงน้ำหนุนในบางช่วงเวลาได้ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเลอย่างใกล้ชิด
สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง มี 16 ชุมชน ในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสาน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือในการตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม และเสริมกระสอบทรายจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบความพร้อมของเครื่องสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำให้พร้อมใช้งาน รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำเหนือและการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานเป็นประจำทุกวันด้วย