นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน พร้อมอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 600 ล้านบาท สำหรับการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อทั้งหมด โดยธนาคารออมสิน จะจัดสรรวงเงินการให้ความช่วยเหลือรวม 2,000 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในการดำรงชีวิต และลงทุนประกอบอาชีพของประชาชน กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้จำนวน 100,000 ราย
สำหรับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน ธนาคารออมสิน จะจัดสรรวงเงินการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับระยะเวลางานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เป็นวงเงินสินเชื่อ/รายไม่เกินรายละ 20,000 บาท
โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้ประจำ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นผู้ที่เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ โดยต้องไม่เป็นลูกจ้าง พนักงาน ผู้บริหาร หรือกรรมการของธนาคารออมสิน
สำหรับระยะเวลาการกู้ยืม ปลอดชำระหนี้เงินต้น 6 งวดแรก ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ไม่มีหลักประกัน (Clean Loan) โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ม.ค.66 หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ
โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะจัดขึ้น 5 ครั้ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และสัญจรจังหวัดต่างๆ 4 ภาคทั่วประเทศ ดังนี้
– ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ย.65 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
– ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 พ.ย.65 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
– ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค.65 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
– ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20-22 ม.ค.66 ณ จังหวัดชลบุรี และ
– ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค.66 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ ภายใต้โครงการฯ เป็นการให้สินเชื่อที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติของธนาคาร และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารออมสินกำหนด เพื่อช่วยเหลือผู้เข้าร่วมงานมหกรรมร่วมใจแก้ไขหนี้ มีสภาพคล่องในการดำรงชีพ หรือประกอบอาชีพโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ โดยผ่อนปรนภาระหนี้สินให้สอดคล้องกับรายได้ เพิ่มทุนใหม่ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น และเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มด้วย