พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา และจากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาว พบว่าจะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และเดือนมกราคม 2566 จะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุด
สำหรับบริเวณยอดดอยและยอดภู รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อาจจะมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยจะสิ้นสุดฤดูหนาวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยจากอากาศหนาวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด 53 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก ลำปาง แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา น่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก แพร่ กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และจังหวัดอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ ภาคกลาง จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี กาญจนบุรี ชัยนาท ราชบุรี นครนายก นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดสระแก้ว
ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเตรียมความพร้อม ประเมินสถานการณ์ และผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอากาศหนาวหรือหนาวจัด พร้อมทั้งแจ้งเตือน เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวในพื้นที่ ทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุของจังหวัด โดยสำรวจปรับปรุงข้อมูลบัญชีกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้สูงอายุ คนพิการทุพพลภาพ เด็กไร้ผู้อุปการะ สตรีมีครรภ์ ปรับปรุงข้อมูลวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงานที่มีความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยจากอากาศหนาว และชักซ้อมแนวทางการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุร่วมกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ให้ทุกพื้นที่สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเองช่วงฤดูหนาว เช่น “งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายหนาว เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) การไม่ผิงไฟในที่อับอากาศเพราะจะทำให้หมดสติและขาดอากาศหายใจ เป็นต้น” และประสานหน่วยงานด้านสาธารณสุขเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมป้องกันโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว” พล.อ.อนุพงษ์ ย้ำ
ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจะมีสภาพอากาศแห้ง และนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็น จึงให้จังหวัดกำหนดมาตรการป้องกันเหตุไฟไหม้ โดยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ และอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที และให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังการเกิดเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ชุมชน ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว และรณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรใช้วิธีการไถกลบแทนการเผาตอซังและวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัยและช่วยลดปัญหาหมอกควัน รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการสัญจรในฤดูหนาว เช่น กรณีถนนลื่นและสภาพทัศนวิสัยต่ำจากหมอกหนา โดยประสานหน่วยงานของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ติดตั้งสัญญาณไฟหรือไฟส่องสว่างบริเวณทางแยกและจุดเสี่ยง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวตามจุดต่าง ๆ
ด้านการเผชิญเหตุและการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยจากอากาศหนาวขึ้นในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ โดยต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ภาคเอกชน องค์กรสาธารณกุศล มูลนิธิ และประชาชนจิตอาสา ตลอดจนแบ่งพื้นที่ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศหนาวให้ชัดเจน ทั่วถึง ไม่ซ้ำซ้อน โดยถือปฏิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ขาดแคลนเครื่องกันหนาวและประโยชน์สูงสุดของรัฐเป็นสำคัญ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ