มะพร้าวจำนวน 240 ต้น อายุประมาณ 1, 2 และ 3 ปี พบการเข้าทำลายของแมลงดำหนาม ระยะตัวหนอนซ่อนตัวกัดกินใบมะพร้าวอ่อนที่ยังไม่คลี่แทรกตัวตามรอยพับ และกัดกินผิวใบด้านที่พับอยู่กระจายทั่วทั้งแปลง โดยใบที่ถูกทำลายเมื่อคลี่ออกจะเห็นเป็นรอยสีน้ำตาลแห้งเป็นทางยาวตามใบ ทำให้ใบอ่อนมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต และได้รายงานพื้นที่พบการระบาดแก่กลุ่มอารักพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง เพื่อขอสนับสนุนแตนเบียนจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา นำมาปล่อยในพื้นที่มีการระบาดต่อไป
"แมลงดำหนาม" ปัจจุบันถือว่าเป็นแมลงศัตรูมะพร้าวประจำถิ่น พบการเข้าทำลายมะพร้าวได้ตลอดทั้งปี โดยทั้งตัวหนอนและตัวเต็มวัยของแมลงดำหนามมะพร้าวจะซ่อนตัวในใบอ่อนและกัดกินยอดอ่อน โดยเฉพาะยอดที่ยังไม่คลี่ ทำให้ยอดอ่อนของมะพร้าวชะงักการเจริญเติบโต หากต้นมะพร้าวถูกทำลายรุนแรงติดต่อกัน ทำให้ทางใบที่ถูกทำลายแห้งกลายเป็นสีน้ำตาล มองเห็นเป็นสีขาวโพลนชัดเจน หรือที่ชาวสวนมะพร้าวมักเรียกว่า "โรคหัวหงอก" หากเกษตรกรพบการระบาดไม่รุนแรง สามารถใช้วิธีตัดยอดที่ถูกแมลงดำหนามทำลายออกแล้วนำไปทำลายนอกแปลงปลูก หรือปล่อยแมลงหางหนีบ หรือแตนเบียนแมลงดำหนามมะพร้าว หรือใช้เชื้อราเขียวเมตตาไรเซียมช่วยควบคุมการระบาดได้ ส่วนกรณีพบการระบาดของแมลงดำหนามในระดับรุนแรง ให้เกษตรใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ได้แก่ มะพร้าวต้นเตี้ยใช้สารเคมี cartap hydrochloride 4% GR อัตรา 30 กรัม/ต้น ห่อใส่ถุงผ้าเหน็บไว้ที่ยอดมะพร้าว จะมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นาน 1 เดือน
สำหรับมะพร้าวต้นสูงให้ใช้สารเคมี Emamectin benzoate 1.92% EC ฉีดเข้าลำต้น อัตรา 50 ซีซี/ต้น จะมีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามได้นานไม่น้อยกว่า 2 เดือน หากเกษตรกรพบการเข้าทำลายให้รีบแจ้งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว หรืออำเภอใกล้เคียงทันที