ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง จับมือสยามคูโบต้า เปิดตัว เกษตรทิพย์ฟาร์ม
07 พ.ย. 2565

วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง จับมือสยามคูโบต้า เปิดตัว เกษตรทิพย์ฟาร์ม ต่อยอดจาก Smart Community  สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเวลา 10.30 น. ของวันที่ 7 พ.ย. 65 ที่สวนเกษตรวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชน บ้านอุ้มแสง ต.ดู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ และ นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกันเปิดเกษตรทิพย์ฟาร์ม เพื่อต่อยอดจาก Smart Community  สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะได้ถ่ายทอดองค์ความรู้การบริหารจัดการฟาร์ม พร้อมเดินหน้าเป็นแหล่งสร้างอาชีพสู่ชุมชน โดยมี นายบุญมี สุระโคตร สมาชิกวุฒิสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง และนายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ นายอำเภอราษีไศล พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอใกล้เคียง ร่วมในพิธี

     นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จับมือกับ วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง เพื่อต่อยอดความก้าวหน้าของศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า (SKCE) จึดได้เปิดตัว “เกษตรทิพย์ฟาร์ม” ฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนกับ 6 โซนการเรียนรู้ บนพื้นที่ 11 ไร่ โดยเป็นการต่อยอดจาก Smart Community  สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นการเตรียมเดินหน้าเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการฟาร์มในการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตร ในรูปแบบ Smart Farming  สู่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้แก่ลูกหลานและ คนในชุมชนอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการเกษตรไทย 

     กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ เส้นทางของการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสร้างสุขสยามคูโบต้า จากระยะเริ่มต้นของการพัฒนา กิจกรรมต่อเนื่องกับกลุ่มฯ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการฟาร์มและการทำเกษตรต้นแบบ มาสู่ระยะการเสริมความแข็งแกร่ง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ เพื่อให้เกิดการทำธุรกิจชุมชนต้นแบบ และสุดท้ายเป็นระยะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนา SKCE FARM ในระดับภูมิภาค นางวราภรณ์ กล่าว

     ซึ่ง นายบุญมี สุระโคตร สมาชิกวุฒิสภา ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง (เกษตรทิพย์) กล่าวว่า เกษตรทิพย์ฟาร์ม คือฟาร์มนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่สู่ความยั่งยืนที่เกิดจากความตั้งใจที่จะผลักดันการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่ทำเกษตรสมัยใหม่ที่ต่อยอดจาก Smart Community  สู่การเป็นต้นแบบ Smart Farm เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำเกษตรอินทรีย์ และการบริหารจัดการฟาร์มด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบ Smart Farming ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้แนวคิด Modern Organic Farm ที่ออกแบบและพัฒนาฟาร์มโดย บริษัท เกษตรอินโน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง เอสซีจี สยามคูโบต้า และคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชนเกิดความยั่งยืน รวมถึงลูกหลานคนรุ่นใหม่ของชุมชนกลับมาสานต่ออาชีพเกษตรกรรองรับแรงงานคืนถิ่น ในขณะเดียวกันก็ยังผสานกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนเอาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน

     นายบุญมี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ พื้นที่ภายในฟาร์มมีทั้งหมดมีเนื่อที่ 11 ไร่ แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ 1. โซน Green House หรือโรงเรือนอัจฉริยะ สามารถปลูกพืชและควบคุมผลผลิตให้ได้คุณภาพ อีกทั้งยังลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติตลอดทั้งปี 2.โซนไม้ผลมูลค่าสูง เป็นการสร้างทางเลือกสำหรับการเพาะปลูกพืชและเป็นแหล่งสร้างรายได้ระยะยาว สำหรับพืชที่ปลูกภายในฟาร์ม ได้แก่ ทุเรียน อะโวคาโด โกโก้  นอกจากนี้ยังปลูกกล้วยน้ำว้า เพื่อเป็นแนวกันลม พร้อมทั้งนำนวัตกรรมระบบให้น้ำอัจฉริยะเข้ามาใช้ในพื้นที่ด้วย 3. โซนพืชสร้างรายได้เร็ว แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ พืชผักไม้เลื้อยและพืชแซมอื่นๆ 4. โซนโซล่าเซลล์  พื้นฐานการทำเกษตรของกลุ่มเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยทางกลุ่มมุ่งที่จะเป็นการเกษตรแบบ Green Energy จึงได้ติดตั้งโซล่าเซลล์แบบกระแสตรง ช่วยลดต้นทุนจากค่าไฟฟ้า ทั้งจากระบบการให้น้ำ และไฟส่องสว่าง 5. โซนแปลงข้าวตัวอย่าง มีการนำเครื่องจักรกลการเกษตรสยามคูโบต้ามาใช้ควบคุมคุณภาพและปริมาณตลอดกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การใช้แทรกเตอร์ในการเตรียมดิน การใช้รถดำนาในขั้นตอนปักดำ การใช้โดรนเพื่อการเกษตรในขั้นตอนของการดูแลรักษา และใช้รถเกี่ยวนวดข้าวสำหรับการเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสร้างรายได้เพิ่มด้วยการอัดฟางสำหรับจำหน่าย 6. โซนพืชสมุนไพร ในปัจจุบันพืชสมุนไพรจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ตลาดมีความต้องการในปริมาณสูง ทางกลุ่มจึงได้จัดทำแปลงสมุนไพรในฟาร์ม ต่อยอดการแปรรูปเป็นอาหารและยา สมุนไพรที่ปลูก ได้แก่ ข่า ตะไคร้ กระชายดำ กระชายขาว มะนาว มะกรูด และฟ้าทะลายโจร เป็นต้น

ณัฐธรชนม์  สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...