นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาใน หัวข้อ “การใช้พลังงานสีเขียวและแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย” ภายในงานสัมมนา APEC Energy Forum 2022 : APEC คลังสมองพลังงานอัจฉริยะ 2022 ว่า โลกกำลังอยู่ในระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการพัฒนาแบบเดิมที่เน้นการผลิตเพื่อการแข่งขันไปสู่การผลิตเพื่อความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทยได้มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องดังจะเห็นนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม Value–Based Economy ในเบื้องแรก และพัฒนาต่อเนื่องมาสู่โมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG Model โดยเศรษฐกิจลักษณะนี้คือ การพัฒนาโดยมุ่งเน้นไปที่การตอบโจทย์หลักคือ “การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ให้มีความยั่งยืน ภายใต้ key word สำคัญคือ การไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า BCG Model คือกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในทุกๆ ภาคส่วนของประเทศด้วยชุดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมในสังคม เมื่อการพัฒนาดังกล่าวเกิดขึ้นก็จะนำไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ในท้ายที่สุดดังที่เราตั้งใจไว้
เมื่อพูดถึงเรื่องพลังงานสีเขียว (Green Energy) ส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแบบ BCG Model ในฐานะที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนกับพลังงานชนิดอื่นอย่าง ฟอสซิล น้ำมันดิบและถ่านหินที่เราเคยใช้มาก่อนหน้า อันจะสร้างปัญหาก๊าซพิษและก่อเกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
“สำหรับการใช้พลังงานสีเขียวในประเทศยังสามารถเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตเข้ามาได้อีกมาก ซึ่งการใช้พลังงานสีเขียวนั้นแน่นอนว่าต้องมีความผันผวนสูงเมื่อเทียบกับการใช้งานพลังงานจากฟอสซิล แต่เป็นสิ่งที่สามารถบริหารจัดการได้ และเป็นสิ่งที่ควรลงทุนลง ไม่ว่าจะเป็นการนำ เทคโนโลยี smart grid เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน เทคโนโลยี AI สำหรับการวิเคราะห์สภาพอากาศ กำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจนไปถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของระบบ
อีกทั้งหากมีระบบพลังงานหมุนเวียนกระจายหลายที่ก็จะช่วยให้ความผันผวนโดยรวมหายไป อาจไม่จำเป็นต้องยึดแค่พลังงานหมุนเวียนอย่างใดอย่างหนึ่ง การกระจายการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยแนวทาง Decentralization ไปยังท้องถิ่น ชุมชน ชาวบ้าน เราสามารถทำได้เช่นส่งเสริมการติดตั้ง solar rooftop ซึ่งปัจจุบันมีการรับซื้อแต่รัฐยังไม่พูดถึงต้นทุนในการเข้าถึง solar rooftop ของประชาชน ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งถือเป็นทางเลือกก่อนหน้ายังคงล่าช้าและยังไม่สามารถดำเนินการได้ดังเป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้คือความกังวลและทัศนคติแบบเดิมที่ยังเป็นกรอบการกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานภาครัฐในปัจจุบัน”นายสนธิรัตน์กล่าว
ซึ่งการใช้พลังงานสีเขียวนี้จะนำไปสู่แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน และจะเป็นข้อสังเกตบางประการต่อนโยบายด้านพลังงานสีเขียวของประเทศไทยและการเตรียมเป็นฐานอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศ อย่างเช่นพลังงานสีเขียวอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ และพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ ถือเป็นคำตอบของ Megatrend ของโลกในปัจจุบันที่มุ่งตอบคำถามของการพัฒนาของโลกที่บั่นทอนสภาพภูมิอากาศและพยายามรณรงค์เรื่องนี้มาอย่างจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่การพัฒนาระดับองค์กรระดับนานาชาติอย่าง โจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หรือ SDGs ของหน่วยงานอย่าง UN หรือแม้แต่ความผูกพันของประเทศต่างๆทั่วโลกในเวที การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (Conference of the Parties of the UNFCCC หรือ COP
รัฐบาลไทยภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีมองเห็นและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นแลได้ประกาศเจตนารมน์ ในการประชุมสมัยล่าสุด (COP 26) ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในหรือก่อนหน้า ปี 2065”
เจตนารมณ์ดังกล่าวนำมาสู่การเริ่มต้นปรับปรุงสัดส่วนการใช้พลังงานในบ้านเราอย่างจริงจัง เห็นได้จากแผนพลังงานแห่งชาติหรือแผน PDP2018 (2561-2580) กฟผ. มีภารกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน พลังงานหมุนเวียน พลังงานน้ำ รวมสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP2018 ทั้งหมด 8,944 เมกะวัตต์ อยู่ในสัดส่วนร้อยละ 20 ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี และมองว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนได้อีกมาก เพื่อตามให้ทันกับทิศทางกระแสพลังงานที่แปรเปลี่ยนไปของโลก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงแผนดังกล่าวในการทบทวนปรับเพิ่มโรงไฟฟ้าจาก RE (รายเชื้อเพลิง) เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้า RE อย่าง โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าขยะชุมชน สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ “Energy for all” ซึ่งริเริ่มในสมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
อย่างกรณีโรงไฟฟ้าชุมชนนอกจากจะได้ส่งเสริมการใช้พลังงานสีเขียวซึ่งเน้นพลังงานจากชีวมวล อาทิ พืชพลังงานอย่าง แกลบ ฟางข้าว ต้น-ใบ-ชาน-กากอ้อย ไม้โตเร็ว หญ้าเนเปียร์ แล้วยังจะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนในเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งผลิต ใช้ และส่งจำหน่ายไฟฟ้า ตลอดจนถึงการสร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหามลพิษจากการเผาทำลายวัสดุเกษตร เป็นต้น
เมื่อเทียบดูจากต่างประเทศ ความจริงจังต่อการนำพลังงานสีเขียวเหล่านี้ถูกนำมาใช้มากขึ้น อย่าง รัฐบาลสหรัฐอเมริกา มีการประกาศแนวทางชัดเจนที่จะสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม และมีเป้าหมายที่จะบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 สหภาพยุโรปได้มีแผน European Green Deal ที่สนับสนุนให้การใช้ข้อบังคับและแคมเปญต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสภาพอากาศอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ประเทศใน EU เป็น สังคมที่ปลอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใน 30 ปีข้างหน้า ถัดมาที่ประเทศฝั่งเอเชียอย่างจีน มีการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 65% ภายในปี 2030 และ 0% ในปี2060 รวมถึงผลักดันการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ภายในประเทศให้ได้ในระยะยาว
สำหรับประเทศไทยเอง ได้เดินหน้าสอดรับต่อทิศทางกระแสการณ์ดังกล่าวและเชื่อมโยงฐานอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอันดับที่ 11 ของโลกที่มีอยู่เดิมต่อยอดการตั้งเป้าเป็นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์รูปแบบใหม่ หรือพลังงานไฟฟ้า
โดยเริ่มต้นดำเนินการแล้วผ่านการปรับตัวทั้งนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC และการรองรับด้านระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2050 ดำเนินผ่านนโยบายหลักของ BOI คือ นโยบาย 30@30 ซึ่งเป็นการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 และวางตัวเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ EV ในภูมิภาคในอนาคต
สำหรับ EV ที่พูดถึง คือ BEV (Battery Electric Vehicle) หรือบางคนก็เรียก PEV ( Pure Electric Vehicle) ซึ่งก็คือ รถยนต์ที่พึ่งพิงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาแรงในขณะนี้
ปัจจุบันโครงการผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI โดยมีบริษัทหลักๆ เช่น GWM สัญชาติจีน Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวัน BYD บริษัทสัญชาติจีน Mine mobility รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย Ford motor manufacturing สัญชาติ US ซึ่งเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และยังมี Mercedes Benz รถยนต์สัญชาติเยอรมัน ในฐานการผลิตที่สมุทรปราการ
เมื่อเทียบนโยบายการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าในไทยประเทศไทยถือว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น มีการจัดซื้อและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าขนส่งสาธารณะเพื่อเป็นตัวอย่างนำร่องเพื่อทดลองตลาด ส่วนมาตรการทางด้านภาษีได้กำหนดไว้ในอัตราที่ต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงมีการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิต ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรการนำเข้าพวกชิ้นส่วนและอุปกรณ์ รวมถึงมาตรการในการลดภาษีสรรพาสามิต เป็นต้น
ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก ระบุยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ว่ามีการจดทะเบียนไปแล้วถึง 12,690 คัน แบ่งออกเป็น รถจักรยานยนต์ 6,647 คัน รถยนต์ 5,625 คัน รถโดยสารและรถบรรทุกอีก 292 คัน ถือเป็นความสนใจและแนวโน้มธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศและคาดว่าแนวโน้มข้างหน้าอาจมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการแห่จองรถยนต์ไฟฟ้า BYD เป็นจำนวนมาก โดยเข้ารอเข้าคิวตั้งแต่ช่วงกลางดึก ถือเป็นการตอบรับที่ดีของคนไทยและยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนถึงศักยภาพและแนวโน้มของอุตสาหกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี