นายเทพศักดิ์ ฐิตะรักษา ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การบูรณาการแผนงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของโครงการมหานครแห่งอาเซียน” ในวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2560 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. เข้าร่วม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ หน่วยงานในสังกัดจังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ
ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า ตามที่ กฟน. ได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้วยการดำเนินการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา ในการดำเนินโครงการบางส่วนยังมีอุปสรรคที่ทำให้เกิดความล่าช้า ทั้งปัญหาการวางระบบสาธารณูปโภคที่มีอยู่เต็มพื้นที่ใต้ดิน รวมไปถึงการควบคุมผู้ประกอบการนำสายเคเบิลลงใต้ดิน ซึ่งการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการบูรณาการแผนงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการสรุปแผน และประสานงานระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงแผนการดำเนินงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ผ่านกิจกรรม workshop แบ่งกลุ่มระดมแนวคิดการบูรณาการแผนงานร่วมกันเพื่อความสำเร็จของโครงการฯ ทั้งในประเด็นการจัดการพื้นที่ทางเท้า การจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้าง แนวทางการจัดการแผนงานและแผนงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน การจัดการความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ รวมถึงการแก้ไขปัญหา และการนำเสนอปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จของการดำเนินโครงการฯ สอดรับกับนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
ทั้งนี้ โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมีระยะทาง 172.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ รวม 45.4 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนราชปรารภ ถนนศรีอยุธยา ถนนโยธี ถนนเพชรบุรี ถนนรัชดาภิเษก ถนนเทียมร่วมมิตร ถนนพระราม4 ถนนพระราม3 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนสาทร ถนนนางลิ้นจี่ และโครงการเพื่อรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน ระยะที่ 1 ระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดความสำเร็จ ลดผลกระทบต่อประชาชน ช่วยให้เกิดความปลอดภัย มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคง และเป็นรากฐานการพัฒนาสู่การเป็น “มหานครไร้สาย Smart Metro”