คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หลังพบระบบไพรมารีโหวตอาจมีปัญหาบางประการ โดยต้องแก้ปัญหาเพื่อให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหาในอนาคต
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงระบบเลือกตั้ง "ไพรมารีโหวต" ตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า การกำหนดให้สาขาพรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ในขณะร่าง กรธ. คำนึงถึงพื้นที่ที่ไม่มีผู้สมัคร ไม่ได้คิดถึงสาขาที่มีผู้แทนประจำจังหวัดจึงจะส่งผู้สมัครได้ รวมถึงพื้นที่ทับซ้อนจะสามารถส่งผู้สมัครได้หรือไม่ ดังนั้นจะต้องหารือ กับ กกต. อีกครั้ง โดย กกต. ต้องตรวจสอบความเป็นไปได้ของตัวร่างกฎหมาย เพราะกฎหมายพรรคการเมือง ที่ สนช.ให้ความเห็นชอบ อาจมีปัญหาบางประการ ต้องคุยกันว่าจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ทั้งระยะเวลา และปัญหาเชิงพื้นที่ หากให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครได้ต้องมีสาขาพรรค หรือผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จะมีปัญหาอย่างไร และ กกต.จะทำควบคุมอย่างไรให้ระบบไพรมารีโหวต เป็นไปด้วยความถูกต้อง และระบบการตรวจสอบจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบกับการเลือกตั้ง
นายอุดม รัฐอมฤต กล่าวว่า กระบวนการสรรหาผู้สมัคร พรรคการเมืองต้องคัดสรรผู้สมัครผู้สมัคร ระดับผู้แทนแขตและระบบบัญชีรายชื่อ โดยให้สาขาพรรคการเมืองและผู้แทนระดับจังหวัดไปรวบรวมรายชื่อสมาชิก เพื่อเสนอต่อกรรมการสรรหา ก่อนเสนอต่อกรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการให้ได้ผู้สมัครระบบแบ่งเขต ให้สมาชิกรวบรวมรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับแรกเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา เพื่อเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาคัดเลือก แต่คณะกรรมการบริหารพรรคไม่เห็นชอบ ก็ต้องสรรหาใหม่ ส่วนบัญชีรายชื่อ ให้สมาชิกเสนอรายชื่อเสนอสมาชิกที่เหมาะสมคนละ 15 รายชื่อ ให้ได้จำนวน 149 รายชื่อ โดยเว้นไว้ 1 รายชื่อ คือ หัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งการกำหนดให้สมาชิกเสนอรายชื่อผู้เหมาะสม สนช. เห็นว่า เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่การเสนอรายชื่อต้องมีกระบวนการในการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมือง จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรที่จะส่งรายชื่อผู้สมัครให้กับ กกต.