นายกฯร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และแขกพิเศษ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลกและภาวะถดถอยที่กำลังเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ กต.แถลงผู้นำเอเปกเห็นพ้องสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย กระทบเศรษฐกิจทุกประเทศ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค กับแขกพิเศษ ได้แก่ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับหุ้นส่วนด้านการค้า” ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยพบว่าอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่แตกต่างไปจาก 2 ครั้งแรกที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพโดยสิ้นเชิง ในเชิงเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ต้องเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูง ความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่หยุดชะงัก และความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ
“เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งเป็นหัวข้อการประชุมเอเปคปี 2565 อยู่บนพื้นฐานของแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว หรือแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนงานภายใต้ 3 เสาหลักของวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ปี ค.ศ. 2040 ตลอดปีที่ผ่านมาได้มีการพบปะกับภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้เป็นเจ้าภาพจัดการการประชุมระดับรัฐมนตรี 8 ครั้ง เพื่อพัฒนาความร่วมมือของเอเปคในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยไทยตระหนักดีว่าความร่วมมือกับพันธมิตรนอกเอเปคเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการฟื้นฟูและการเติบโตในระดับที่กว้างขึ้น เพื่อการพัฒนาที่แข็งแกร่ง สมดุล ยืดหยุ่น ยั่งยืนและครอบคลุม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าเช้านี้ผู้นำเอเปคได้หารือเพื่อการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไร และได้กล่าวเชิญชวนสู่การหารือเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนเร่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเอเปคเป็นเวทีที่มุ่งขับเคลื่อนการค้าที่เสรีและเปิดกว้างมาโดยตลอด และในปีนี้ได้ริเริ่มทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟแทป ผลักดันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญแขกพิเศษกล่าวถ้อยแถลง โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความเชื่อใจกัน โดยฝรั่งเศสสนับสนุนการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทาย โดยในส่วนของซาอุดีอาระเบีย และ OPEC มุ่งมั่นเสริมสร้างการเจริญเติบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพในตลาดพลังงาน และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด พร้อมทั้งมุ่งมั่นสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม
ภายหลังจากการแสดงความคิดเห็นของผู้นำเขตเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีได้ กล่าวปิดถึงความเห็นของผู้นำที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เห็นความสำคัญของการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก สำหรับไทย การค้าและการลงทุนยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างการเจริญเติบโต และเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันต้องสร้างเสริมให้คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ MSMEs สตรี และ เยาวชน เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ข้อมูล และเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ที่ส่งถึงคนทุกกลุ่ม
ผู้นำเอเปกเห็นพ้องสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย กระทบเศรษฐกิจทุกประเทศ
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แถลงข่าวภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเอเปก และร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth)” ว่า ในที่ประชุมเน้นพูดคุยถึงการเติบโตที่สมดุล ให้ทุกคนมีส่วนร่วมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอแนวคิดให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนในทุกเรื่อง อย่างความหลากหลายทางชีวภาพ บวกกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว โดยทั้ง 3 แนวคิด ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมเอเปก เพราะไม่เคยมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนโฉมภาพลักษณ์การค้าการลงทุนที่จะต้องมีเรื่องเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้อง
นายเชิดชาย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณในความร่วมมือของผู้นำเขตเศรษฐกิจแต่ละประเทศ และหวังว่าการปิดประชุมในวันที่ 19 พ.ย. ทุกเขตเศรษฐกิจจะร่วมกันประกาศเอกสาร “The Bangkok Goals on BCG Economy” ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเอเปก ที่เกิดขึ้นในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม
“ในการประชุมเมื่อช่วงเช้าผู้นำเขตเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ได้ย้ำถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากเหตุการณ์ของประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลกระทบให้เกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการฝืดถอยของเศรษฐกิจ โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจ เห็นพ้องว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบจริงกับทุกประเทศ” นายเชิดชาย ระบุ
อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า ผู้นำเขตเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังพูดถึง เรื่องการพัฒนาดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดิจิทัลที่จะเป็นตัวเสริมสร้างการมีส่วนร่วม แต่ประเด็นที่สำคัญ คือจะทำอย่างไรให้มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือการเรียกร้องให้มีการเพิ่มเติมทักษะในด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ให้กับทุกคนในเขตเศรษฐกิจ พร้อมทั้งยังสนับสนุนแนวทาง “The Bangkok Goals on BCG Economy” ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถส่งเสริมเรื่องความรู้พื้นฐานร่วมกัน เพิ่มทักษะ พัฒนาให้ทรัพยากร นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องพลังงาน การเกษตร การดูแลการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล และการสนับสนุนGreen Financ หรือการเงินสีเขียว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว