ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ วันที่ 19 พ.ย. 65 ที่บริเวณลานโคปุระ สวนเกียรติพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา เกาะกลางน้ำห้วยน้ำคำ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ รรท.ผวจ. เป็นประธานเปิดงานฉลอง 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 240 ปี จังหวัด รับขวัญประชาชนชาวศรีสะเกษหลังจากผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมที่ผ่านมา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ ภาคส่วนต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาเดินทางมาร่วมพิธีกันคึกคัด
นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า พิธีเปิดงาน เฉลิมฉลอง 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ “สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ” ในวันนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความภาคภูมิใจใน ประวัติศาสตร์อันเจริญรุ่งเรืองของเมืองศรีสะเกษมาตามลำดับ และเพื่อสำนึกรำลึกถึง บุญคุณ ของบรรพบุรุษ ผู้สร้างบ้านแปงเมืองศรีสะเกษ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาอัตลักษณ์ทาง วัฒนธรรมของประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ และเพื่อรับขวัญพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ร่วมถึงเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ได้จำหน่ายผ้าเบญจศรี อาหารพื้นบ้าน ธุรกิจด้านการ ท่องเที่ยว ที่พักและโรงแรม ตลอดทั้งได้ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ จังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
นายประหยัด พิลา วัฒนธรรมจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า สําหรับการจัดงานในปีนี้ กำหนดจัดงานรวม 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 พฤศจิกายน 2565 ที่บริเวณสวนสาธารณะลานออดหลอด อนุสรณ์ 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ และบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (เกาะห้วยน้ำคำ) อำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยมีกิจกรรมสำคัญประกอบด้วย พิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกันทุกอำเภอ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และทําบุญตักบาตร, พิธี “สู่ขวัญบ้าน บายศรีเมือง รุ่งเรือง 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ ที่ใช้พราหมณ์ประกอบพิธีสู่ขวัญ 22 คน ท่ามกลางบายศรี 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ เป็นบายศรีที่ถือว่าสูงที่สุดในโลก ซึ่งมีความความสูง 4 เมตร โดยบายศรีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนยอดเป็นรูปทรงปราสาทขอมแสดงถึงการบูชาเทพบรรพบุรุษ ความสูง 240 เซนติเมตร ทำจากใบตองกล้วยตานี ชั้นกลางเป็นฐานบายศรีเอก ประดับตกแต่งด้วยลายหยวกกล้วย ด้วยภูมิปัญญาการแทงหยวกกล้วย แบบโบราณ ความสูง 160 เซนติเมตร ทำจากหยวกกล้วยตานี ชั้นล่างเป็นบายศรีสี่เผ่าไทศรีสะเกษ แบบโบราณ เพื่อบูชาบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยภูมิปัญญาความเชื่อแบบโบราณของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเยอ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีการเป่าสะไน (เขาควาย) เป็นบทเพลงจำนวน 240 ท่าน การรำเฉลิมฉลอง 240 ปี จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนางรําจากส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรและอำเภอทุกอำเภอ ร่วมรำกว่า 3,500 คน การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP และสินค้าผลิตภัณฑ์พื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม หรือดนตรีในสวน ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวให้จังหวัดศรีสะเกษ กลับมาคึกคักอีกครั้ง สร้างรายได้สร้างเศรษฐกิจให้กับคนในจังหวัดศรีสะเกษ
ณัฐธรชนม์ สิริโชติสกุล / ศรีสะเกษ