นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมและยินดีต่อความก้าวหน้านักวิจัยไทยที่พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมเพื่อตรวจความเสี่ยงโรคเบาหวาน โดยใช้ “TrueEye Technology” ตรวจคัดกรองความเสี่ยงภาวะเบาหวานอย่างรวดเร็วและแม่นยำ พร้อมทั้งพัฒนาต้นแบบ “ตำรับยาทาแผลเบาหวานจากสมุนไพร” ลดการนำเข้ายาเคมีจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงยามากขึ้น เป็นการยกระดับนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย สอดรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
รองโฆษกรัฐบาล ระบุต่อไปว่า โรคเบาหวาน เป็น 1 ใน 3 อันดับแรกที่คนไทยป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี กระบวนการตรวจค่าน้ำตาลสะสมมีความล่าช้าและยุ่งยาก ซึ่งนวัตกรรม “TrueEye Technology” ตอบโจทย์การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคเบาหวานและภาวะเบาหวานขึ้นตาได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ผ่านรูปถ่ายจอประสาทตา เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง เทคโนโลยีด้านเว็บ/โมบายแอปพลิเคชัน การประมวลภาพ และการวิเคราะห์ภาพถ่ายจอประสาทตาด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเมินระดับความเสี่ยงได้ใน 5 นาที โดยไม่ต้องเจ็บตัว มีความแม่นยำเทียบเท่ากับงานวิจัยระดับโลกเมื่อเทียบกับตัวชี้วัดมาตรฐานระดับสากล ถือเป็นอีกรูปแบบในการตรวจหาความเสี่ยงภาวะเบาหวานและค่าน้ำตาลสะสมย้อนหลัง 3 เดือน ครอบคลุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาวะปกติ, กลุ่มภาวะเสี่ยง และกลุ่มภาวะเป็นเบาหวาน อีกทั้งในปัจจุบันสามารถต่อยอดใช้ตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อื่น เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้ด้วย
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนและภาคการศึกษาของไทยยังได้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาต้นแบบตำรับยาทาแผลเบาหวานจากสมุนไพร เพื่อลดการนำเข้ายาเคมีรักษาแผลเบาหวานจากต่างประเทศ นำวัตถุดิบทางการเกษตรมาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่ม รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยารักษาแผลเบาหวานได้มากขึ้น
นางสาวรัชดา กล่าวในช่วงท้ายว่า “รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางสุขภาพของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นอีกช่องทางเพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มธุรกิจ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ส่งเสริมและผลักดันให้ Start up และ SMEs สร้างสรรค์ ต่อยอดนวัตกรรม ในผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถใช้ได้จริงทางการแพทย์หลากหลายโครงการ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านสุขภาพของประเทศไทย ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ต่อยอดสู่ภาคเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ”