กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดพิธีเปิดศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) เพื่อดำเนินงานภารกิจด้านการป้องกันและปราบปราม โดยมี ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีมอบธงชุดปฏิบัติการพิเศษ (ฉลามขาว) พร้อมประดับอาร์มเครื่องหมายชุดปฏิบัติการพิเศษ (ฉลามขาว) โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ศปพ.ทช.) มีหน่วยงานประกอบด้วย กลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล (ศรชล.) กองป้องกันและปราบปราม ส่วนยุทธการ ส่วนพิทักษ์ทรัพยากร กรม ทช. มีเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ จำนวน 386 ราย ภายใต้การกำกับดูแลของ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โอกาสนี้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดี ทช. ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดี ทช. นายไพรัตน์ สิทธิพล ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปราม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง จากส่วนกลาง และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมฯ เข้าร่วมด้วย
ดร.ยุทธพล กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่กรมฯ พร้อมทั้งมอบนโยบายในการปฏิบัติงาน โดยเน้นให้ทำงานร่วมกับประชาชน และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพราะถือเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งที่สุด พร้อมทั้งให้สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้การปราบปรามการกระทำความผิดทางทะเลให้ใช้การสอบสวนเชิงลึก เพื่อนำนายทุนผู้อยู่เบื้องหลังผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ อีกทั้งให้จัดหาเทคโนโลยีในการสำรวจตรวจพื้นที่ทะเลและชายฝั่งที่มีความรวดเร็วปลอดภัย อาทิ การใช้โดรนบินลาดตระเวน ถ่ายภาพหรือติดตามสถานการณ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีอะไรที่ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นและปลอดภัยขึ้นเราต้องเร่งดำเนินการทันที ตามนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.)
นายอรรถพล กล่าวว่า การปฏิบัติงานตามภารกิจ ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อกำหนดกรอบภารกิจหลัก เพื่อป้องกันและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ได้อย่างทันท่วงที และยึดคืนพื้นที่จากผู้บุกรุกครอบครอง พัฒนาระบบการตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นเอกภาพในการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งรัด และติดตามผลการดำเนินคดีด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้ถึงที่สุดโดยเร็ว อีกทั้งปฏิบัติการร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) อีกทั้งช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติและการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามภารกิจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ รวมทั้งภารกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ประกอบด้วยกลุ่มงานปฏิบัติราชการประจำศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กองป้องกันและปราบปราม โดยแบ่งงานภายในเป็น 4 ส่วน และ 10 หน่วยงานปฏิบัติพิเศษภายใต้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 – 10 เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าและพิทักษ์ทะเล ที่ทำหน้าที่ในการดูแล รักษา คุ้มครอง และป้องกันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในพื้นที่ 24 จังหวัดชายฝั่งทะเล
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า กรม ทช. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันให้เป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพในทุกมิติ
ทั้งด้านทะเล ด้านชายหาด ด้านการกัดเซาะชายฝั่ง และด้านป่าชายเลน เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลระบบปฏิบัติการ
ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อสร้างเครือข่ายข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ร่วมกับชุมชนชายฝั่ง และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ศปพ.ทช. จะต้องมีองค์ความรู้ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลการป้องกันและปราบปราม
ภัยคุกคามต่อพื้นที่ทรัพยากรทางทะเล และข้อมูลของการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทางทะเล (Smart Marine Patrol) โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการปฏิบัติงาน มีทักษะในการสื่อสาร การเจรจา รวมถึงพาหนะ เช่น เรือตรวจการณ์ต่างๆ ต้องพร้อมใช้งานและซ่อมบำรุงอยู่เสมอ ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ
เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ พร้อมเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความรอบคอบ ประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันอันตราย ให้คำนึงถึงความปลอดภัย นายอรรถพล กล่าวทิ้งท้าย