นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังจากการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2565 ว่า วันนี้เป็นการประชุมติดตามนโยบาย 216 เรื่อง ที่จะต้องทำงบประมาณปี พ.ศ. 2567 ขาขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 100 นโยบาย จริง ๆ แล้วมีอยู่ 47 เรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อาจจะติดเรื่องรายละเอียดกฎหมาย ข้อบัญญัติต่าง ๆ โดยมีการพิจารณาว่า 216 นโยบาย จะต้องเพิ่มเติมอย่างไร จะต้องบูรณาการอย่างไร
มีการเร่งเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปัจจุบันตัวเลขมีปัญหาอยู่เพราะว่า เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ต่ำกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน เกือบ 20 % ซึ่งได้เร่งเรื่องการจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันข้อมูลอาจจะเก็บได้ประมาณ 70 % ของฐานข้อมูลทั้งหมด ในส่วนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มี 2 เขต ที่ทำฐานข้อมูลครบ 100 % แล้ว คือเขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
ถ้าเราไม่สามารถทำฐานข้อมูลได้ และไม่ส่งแบบประเมินให้เจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินก็ไม่ต้องจ่าย ซึ่งพบว่ามีอยู่หลายเขตโดยเฉพาะเขตชั้นนอกที่มีพื้นที่แปลงเยอะ และบางครั้งข้อมูลที่ดินไม่ได้อัปเดต ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนมือเจ้าของแล้ว ตอนนี้ต้องเร่งทำฐานข้อมูลให้ครบ โดยเฉลี่ยแล้วตอนนี้ดำเนินการได้ประมาณ 70 % ซึ่งมีทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในอาคาร ต้องรีบส่งคนไปทำฐานข้อมูลให้ครบถ้วน เพื่อเร่งจัดเก็บภาษีให้ได้ครบ 100 % นอกจากนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลของ กทม.กับหน่วยงานอื่นจะต้องครบถ้วนมากขึ้นด้วย หน่วยงานอื่นจะต้องอัปเดตข้อมูลด้วย เช่น โฉนดที่ดินข้อมูลบางทีข้อมูลดิจิตอลอาจจะไม่ตรงกับหลังโฉนด คือ โอนไปแล้วอาจจะยังไม่ได้อัปเดตข้อมูลในดิจิตอล ทำให้ข้อมูลมีความลักลั่นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะรายได้หลักของ กทม.ที่เราจัดเก็บเอง ถ้ารายได้เราหายไปก็มีผลต่ออนาคตเหมือนกัน
ในอนาคตจะมีการพัฒนาคู่มือจัดเก็บภาษีให้ตรงกัน เพราะว่าปัจจุบันยังเป็นการตัดสินใจของแต่ละเขตอยู่ ได้ให้กองรายได้ สำนักการคลัง กทม.ดำเนินการจัดทำคู่มือซึ่งจะบอกวิธีตัดสินใจหรือจัดเก็บเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้คู่มือใกล้เสร็จแล้ว ทั้งนี้ จะได้เร่งดำเนินการจัดทำคู่มือ เพื่อความโปร่งใสและยุติธรรมกับทุกคน ไม่อย่างนั้นจะขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ตัดสินใจของแต่ละคน
นอกจากนี้ มีการหารือเรื่อง “อาสาสมัครเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นนโยบายที่เราจะหาเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งเทคโนโลยีเข้าไปสอนในชุมชน ขณะนี้กำลังดำเนินการคัดเลือกอยู่ และมีค่าตอบแทนให้ โดยให้สอนเทคโนโลยีให้คนในชุมชน คล้ายๆ อาสาสมัครสาธารณสุข สำหรับการ “จัดตั้งสภาคนเมืองประจำเขต” ไม่ได้มีกฎหมายบังคับ แต่เราอยากให้มีตัวแทนคนหลากหลายอาชีพในเขต อาจจะดูเรื่องการใช้งบประมาณโครงการต่างๆ จริงๆ แล้วจะมีคำว่าประชาคม ซึ่งอยู่ในกฎหมายแต่ยังไม่ผ่านสภา กทม. สภาคนเมืองคือที่ให้คนมาแสดงความเห็น และอาจจะสะท้อนเรื่องการใช้งบประมาณในเขต ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น สภาเขตน่าจะมีประมาณ 30-40 คน และมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน เป็นตัวแทนประชาชนที่จะมาช่วยดูโครงการต่างๆ
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งคือเรื่อง “ไฟดับ” กทม. ดูไฟประมาณ 400,000 ดวง อยู่ในความรับผิดชอบของเขต 300,000 ดวง ของสำนักการโยธา 100,000 ดวง ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพราะประชาชนแจ้งเรื่องไฟดับเป็นจำนวนมาก เกือบ 30,000 ดวง ในการจัดซื้อจัดการได้ให้การไฟฟ้าดำเนินการ ซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างหรือความรวดเร็ว ก็จะปรับให้รวดเร็วขึ้น
สำหรับวาระอื่นๆ อาทิ ความโปร่งใส มีความร่วมมือกับทาง ACT การขับเคลื่อนเรื่องคณะกรรมการเรื่องความโปร่งใส การปลูกต้นไม้ล้านต้น การเตรียมงบประมาณสำหรับงบกลางเพิ่มเติม การจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน การทำบุญวัดคู่เมือง 9 ม.ค. 66 มีวัดใน กทม. 460 วัด ทำบุญร่วมกัน อาจจะมีการหารือกับเพื่อการบูรณาการร่วมกันระหว่างวัดกับเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด และมีการพูดถึงมาตรการดูแลนักท่องเที่ยวในพื้นที่ กทม. โดยจะมีการตั้งศูนย์ร่วมกับระหว่างเทศกิจและตำรวจท่องเที่ยวด้วย