สธ. เดินหน้า "กัญชาทางการแพทย์" ชูสารสกัดกัญชาเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยโรคระบบประสาท ขับเคลื่อน กัญชา เตรียมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งสำหรับคนและสัตว์กระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจ เร่งสร้างความเข้าใจกัญชา กัญชง ไปสู่ภาคประชาชน ผู้ป่วย และผู้ประกอบการ ทุกมิติ
กรมการแพทย์ ได้มีการศึกษาวิจัยการนำสารสกัดกัญชามารักษาโรคต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในโรคที่ได้ทำการศึกษานั้นคือ โรคระบบประสาท
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สถาบันประสาทวิทยา และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้มีการศึกษาวิจัยติดตามการรักษาโรคลมชักรักษายากในเด็กด้วยสารสกัดกัญชา CBD สูง ร่วมกับ ยากันชักหลายชนิด เป็นระยะเวลา 12 เดือน จำนวน 14 ราย พบว่า ผู้ป่วยมีอาการชักรุนแรงลดลง 50% ทุกรายมีผลข้างเคียงแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และมักเกิดในช่วง 3 เดือนแรก
จึงควรเริ่มยาในขนาดต่ำ เพิ่มขนาดอย่างช้าๆ และเฝ้าระวังผลข้างเคียง ถือว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว ทำให้ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 3 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564
ผลักดันสู่บัญชายาหลัก
ปัจจุบันกรมการแพทย์ ร่วมกับสมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ยังติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักรักษายากในเด็กที่ใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD สูงทั่วประเทศ เบิกจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้มีข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลที่เชื่อถือได้ นำไปสู่การเสนอเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร บัญชี 1 ในปี 2567 ต่อไป
ลดปวด จากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ
มีข้อมูลสนับสนุนถึงสารสกัด กัญชาทางการแพทย์สูตร THC:CBD 1:1 (THC 2.7 mg : CBD 2.5 mg) ในลักษณะยาพ่นที่ดูดซึมผ่านช่องปาก มีประสิทธิภาพลดอาการเกร็งและอาการปวดที่เกิดจากโรคปลอกประสาทส่วนกลางอักเสบ (Multiple sclerosis : MS) โดยการวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับความเกร็งและความปวดที่รายงานโดยผู้ป่วย ซึ่งเป็นการใช้หลังรักษาด้วยวิธีอื่นทั้งที่ไม่ใช้ยา เช่น การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หรือใช้ยารักษาตามมาตรฐาน แล้วไม่ได้ผลหรือมีผลข้างเคียงจนไม่สามารถใช้ยาได้ โดยมีการให้คำแนะนำข้อดีข้อเสียกับผู้ป่วยหรือญาติ
ทางเลือกผู้ป่วยพาร์กินสัน
ส่วนโรคพาร์กินสัน ปัจจุบันเน้นดูแลแบบองค์รวม มีการใช้ยาที่เพิ่มการทำงานของโดปามีนเป็นหลัก แต่เมื่อรับการรักษาได้ระยะหนึ่งผู้ป่วยจะมีปัญหาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ เช่น มีอาการยุกยิก ยาหมดฤทธิ์ไวกว่าที่ควรจะเป็น การใช้กัญชาทางการแพทย์ในกลุ่ม Cannabidiol เป็นยาเสริมการรักษาโรคพาร์กินสันจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย
ซึ่งมีการศึกษาขนาดเล็กจำนวน 21 คน ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ที่มีสาร CBD 6 สัปดาห์ พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตดีขึ้นในกลุ่มที่ใช้ CBD ขนาด 300 มิลลิกรัม อีกการศึกษามีผู้เข้าร่วมวิจัย 4 คน พบว่า สาร CBD สามารถลดพฤติกรรมผิดปกติขณะนอน และมีการศึกษาในผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีอาการทางจิต 6 คน ให้สาร CBD 150 มิลลิกรัมต่อวัน เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 150 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ลดอาการทางจิตได้โดยที่ไม่ทำให้อาการแย่ลงและไม่ก่ออาการข้างเคียง
นอกจากนี้ มีการศึกษาหลายชิ้นในมนุษย์ พบว่า CBD ไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงแม้ใช้ในขนาดสูง ดังนั้น การใช้สารสกัดกัญชาจึงมีความปลอดภัยและน่าจะมีประโยชน์ในการใช้เป็นยาเสริมรักษาโรคพาร์กินสัน อาจช่วยลดอาการปวดเกร็ง อาการยุกยิก และการเคลื่อนไหวช้า สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้
กัญชา ในตลาดโลก
ด้าน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดประชุมวิชาการ “กัญชา” ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หรือ DTAM Forum โดยมีกำหนดจัดทุกอาทิตย์ซึ่งเป็นวันจันทร์ หรือ วันอังคารในแต่ละสัปดาห์ เวลา 13.00 – 16.00 น.ของทุกสัปดาห์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 - เดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบไฮบริด คือ ออนไซด์และออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ป่วย ประชาชน และ ผู้ประกอบการมีข้อมูลที่มากพอในการที่จะนำไปใช้ประโยชน์
เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผอ.กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “การใช้และส่งเสริมกัญชาเพื่อเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ (สาธารณรัฐมอลตาและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)” โดยเผย ข้อมูลจากจากการประชุมวิชาการ MED-Can 2022 (สาธารณรัฐมอลตา) พบว่า ตลาดกัญชาในยุโรป มีมูลค่ากว่า 12,000 ล้านดอลล่าร์ สหรัฐอเมริกามูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลล่าร์ และมีประเทศที่มีกฎหมายกัญชารองรับอยู่ประมาณ 10%
สถานภาพผลิตภัณฑ์กัญชาในตลาดโลก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
นอกจากนี้ ประด็นสำคัญที่มีการพูดถึงใน MED-Can 2022 ดังนี้
1) การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศอังกฤษ จะต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ที่สั่งจ่าย จึงเกิดการเข้าถึงยากัญชาน้อย ทำให้เกิดการเรียกร้องให้แก้กฎหมายในอังกฤษ
2) การพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชาให้เดินหน้าได้ ต้องทำความเข้าใจ ให้ความรู้ เพราะคนยังมีความรู้สึกว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ต้องพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการส่งออก ต้องมีระบบบริการจัดการไม่ให้คนใช้ในทางที่ผิด
3) ในอนาคตจะไม่มีเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชา แต่จะมียากัญชาที่มีกระบวนการผลิต มีการระบุหลักการใช้ การออกฤทธิ์ มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดเจน ขณะนี้มีทั้งรูปแบบยาพ่น ยาอม ยานอนหลับ
4) กัญชาถูกนำมาใช้ทางการแพทย์เป็นอย่างมากเพื่อการลดปวด ในยุโรปและอเมริกา และ
5) การลงทุนต้องรอตลาดให้โตทัน
ตำรับยาไทย โอกาสสร้างเศรษฐกิจ
ล่าสุด หลายประเทศในแถบเอเชียกำลังตื่นตัวในการส่งเสริมธุรกิจกัญชา กัญชง แต่ประเทศไทยได้เปรียบเพราะมีองค์ความรู้ที่แน่น มีตำรับยาแผนไทยเกี่ยวกับกัญชา เป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่สร้างเศรษฐกิจจากต่างประเทศ โดยเน้น Medical well-being
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Asian Cannabis Report กล่าวว่า กัญชามีโอกาสพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายทั้งสำหรับคนและสัตว์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หากสินค้ามีคุณภาพและมีการวิจัยทางคลินิกรับรองจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสูงมาก
นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า กล่าวว่า จะเห็นว่าการจัดประชุมวิชาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นเป็นเวทีที่เปิดกว้างเพื่อให้สามารถนำประสบการณ์ องค์ความรู้ด้านกัญชาที่หลากหลายมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ในการต่อยอดทางภูมิปัญญา แต่ต้องเข้าใจว่าปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่อนุญาตการใช้เพื่อสันทนาการ ส่วนการนำเข้ากัญชาจะยอมรับเพียงบางประเทศ เฉพาะที่มีมาตรฐาน EU GMP ซึ่งในประเทศไทย/ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังไม่รับนำเข้า
ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องศึกษาข้อมูลและกฎหมายของประเทศที่จะส่งออกด้วย และทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเองจะเร่งขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์และเร่งสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการ และประชาชน อย่างต่อเนื่องต่อไป ในส่วนการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทางกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้เร่งหาแนวทางดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
เร่งสร้างความเข้าใจ กัญชา ทุกสัปดาห์
ทั้งนี้ DTAM Forum โดย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มีการจัดขึ้นในทุกสัปดาห์ มีเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่
สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถเข้าร่วมรับฟังการเสวนาได้ที่ ห้องประชุม สุวรรณพฤกษ์ อาคาร 1 ชั้น 1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จ.นนทบุรี และสามารถรับชมการถ่ายทอดสดได้ทาง facebook Live กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก