ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
อังคาร โกฎแสง กรรมการบริหาร “มูลนิธิ อิ่มอก อิ่มใจ”
03 เม.ย. 2568

จากสถาปนิกหนุ่ม ..... สู่สายธารเพื่อสังคมคนเขาใหญ่

                ปัจจุบันในพื้นที่เขาใหญ่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และด้วยอาณาบริเวณโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งเทือกเขาที่รายล้อมไปทั่ว และยังรวมถึงธารน้ำที่รื่นร่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญไม่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก การเดินทางไปจึงสะดวกสบาย ทำให้วันนี้ เขาใหญ่ จึงเต็มไปด้วยแหล่งที่พัก รีสอรต์ น้อยใหญ่ เรียงรายอยู่ทั่วไปหมด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยสำหรับสภาพแวดล้อมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของชาวบ้านในระแวกนั้น

            ซึ่งแน่นอนว่า สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ย่อมมีทั้งในด้านดีและไม่ดีติดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอนอีกเช่นกันที่จะต้องมีหน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยกันดูแล แต่หลายท่านคงอาจไม่รู้ว่า ในพื้นที่เขาใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้เอง ด้วยความสำนึกในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ได้มีเอกชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาในนามของ “มูลนิธิ อิ่มอก อิ่มใจ” นำโดย คุณจิณิณ ตระการสืบกุล ประธานมูลนิธิฯ ที่ตั้งเป้าหมายต่อการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เขาใหญ่ ที่น้อมนำแนวทางที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยหลักทศพิธราชธรรม อันมีหลัก “พุทธ” เป็นเครื่องมือนำทางและเป็นแรงผลักดันที่กลั่นเป็นพลังของการลงมือทำ คิดค้นวิธีการแก้ปัญญาตั้งแต่ฐานราก

                และผลผลิตที่เกิดเป็นความสำเร็จจำต้องได้แห่งแรกก็กำเนิดขึ้นแล้วที่โรงเรียนบ้านปรางคล้า ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และกำลังก้าวไปอีกที่ โรงเรียนท่าช้าง และอีก 5-6 แห่งในไม่ช้านี้

                อปท.นิวส์เชิญเป็นแขกฉบับนี้ จึงจะขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับคีย์แมนสำคัญคนหนึ่งของ “มูลนิธิ อิ่มอกอิ่มใจ” คือ “คุณอังคาร โกฎแสง” หรือ “คุณใหม่” กรรมการบริหารมูลนิธิฯ จากสถาปนิกหนุ่มที่ปัจจุบันอุทิศตนมาสู่นักสังคมที่เข้ามาผลักดันเยาวชนในพื้นที่เขาใหญ่ให้ก้าวไปสู่อนาคตที่มีเป้าหมายชีวิตที่ยั่งยืน

                “คุณอังคาร โกฎแสง” หรือ “คุณใหม่” ในวัย 45 ปี เปิดเผยถึงก้าวย่างก่อนเข้ามาร่วมขับเคลื่อน “มูลนิธิ อิ่มอก อิ่มใจ” ให้เราฟังว่า ตัวคุณใหม่เป็นคนอุตรดิตถ์ โดยคุณพ่อเป็นนายช่างรถไฟชาวอุตรดิตถ์ ส่วนคุณแม่เป็นคุณครูชาวสุโขทัย มีพี่น้อง 2 คน ตัวคุณใหม่เป็นคนลูกชายคนสุดท้อง ในวัยเด็กก็ไม่ลำบากอะไรมาก แต่ซึมซับความเป็นช่างมาจากคุณพ่อมาไม่น้อย ชอบอ่านหนังสือ อีกด้านก็เป็นชอบวาดรูปที่ก็ได้มาจากคุณแม่ที่เป็นคุณครู ที่ปลูกฝังด้านทักษะกันมา

ด้านการศึกษา เริ่มเรียนชั้นประถมที่อุตรดิตถ์ และก็เหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไปในสมัยนั้นที่ต่างก็มุ่งเข้าศึกษาต่อในส่วนกลางที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งคุณใหม่ก็เช่นกัน จบประถมก็มุ่งหน้าเข้าสอบแข่งขันที่หวังเข้าเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบแต่ก็ไม่ติด จึงเบนเข้มมาที่เรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา 3 พุทธมณฑล ในขณะนั้น (ปัจจุบัน โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล) ซึ่งถือเป็นรุ่นแรก ซึ่งก็มาอาศัยอยู่กับญาติ พี่ๆ น้องๆ แถว ซึ่งคุณแม่ก็กำชับให้ดูแลตัวเอง ช่วยตัวเองให้มาก ตอนั้นถือว่าไกลมากจากลาดพร้าวไปพุทธมณฑล ก็ต้องตื่นแต่เช้าตีห้าเดินทางไปเรียน คุณใหม่เล่าให้ฟังช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คุณใหม่มาสอบติดมัธยมปลายที่โรงเรียนหอวัง และตั้งใจเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และก็มาสอบติดได้ดังใจในคณะสถาปัตยกรรม ที่ลาดกระบัง อยู่ 5 ปี หลังเรียนจบก็เข้าทำงานทันทีในสายออกแบบอยู่ 2 ปี ในบริษัทอเมริกัน ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล หลังจากนั้นก็เริ่มอยากมีประสบการณ์ทำงานในต่างประเทศบ้าง เรื่องภาษาบ้าง ก็เลยย้ายไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ แต่jก็ยังเป็นสายออกแบบ อยู่ที่สิงคโปร์อีก 3 ปี

“ช่วงนั้นธุรกิจออกแบบ โอ้โหเรียกว่าขาขึ้นมากๆ จีนก็กำลังเปิดประเทศ ผมว่าช่วงนั้นคนไทยที่เป็นสถาปนิกออกแบบได้รับการยอมรับเยอะว่าคนไทยมีความสามารถออกแบบต่างๆ แต่ที่เห็นอย่างหนึ่งคือ ต่างชาติเขามีระบบความคิด การนำเสนอที่เป็นขั้นเป็นตอนมากกว่า แต่ว่าคนไทยเก่งการออกแบบ”

หลังจากนั้นก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ไทยเป็น Director ออกแบบและควบการบริหารงานไปด้วย บินไปทั่วทั้งที่จีน อินโดนีเซีย บาหลี ก็ทำงานอยู่แบบนี้มาได้สัก 20 ปี “ช่วงนี้แหละที่ผมเริ่มมองว่า นี่ถ้าเราอายุ 50 จะอยู่อย่างนี้หรือ จะอยู่ตรงนี้หรือ แล้วทางเรากลับมาอยู่ที่ไทยแล้วเราไม่มีกำลังแล้วเราจะทำอะไร แต่อย่างไรก็ต้องกลับมา คอนเนคชั่นที่บ้านเรา ก็ต้องมาดูว่าเราจะกลับมาทำธุรกิจแบบไหน ก็เริ่มเป็นจุดเปลี่ยนที่รู้สึกว่าอิ่มตัว ประกอบกับบริษัทที่ทำอยู่ก็เริ่มปรับตัว ตลาดจีนเองก็เริ่มอิ่มตัว เพราะจีนเข้าก็ปรับตัวมีคนของเขามาเรียนรู้มากขึ้นแล้ว ก็เลยมาตั้งบริษัทขึ้นเองชื่อ บริษัท ปารย์ ดีไซน์ สตูดิโอ”

                สำหรับการเข้ามาร่วมขับเคลื่อน “มูลนิธิ อิ่มอก อิ่มใจ” คุณใหม่ บอกว่า พอเริ่มประกอบธุรกิจด้วยตัวเอง เริ่มเห็นอะไรมากขึ้น และก๋เริ่มถามกับตัวเองว่า ทำไมการทำธุรกิจในประเทศไทยช่างสลับซับซ้อนยิ่งนัก ต้องอาศัยเส้นสาย ใช้พลังงานมากกว่าปกติกว่าจะได้งานสักชิ้น ถือเป็นการมองเห็นสัจธรรมมากขึ้น งานที่ควรมีเวลาให้ความสุขกับครอบครัวได้บ้าง มีเวลาส่วนตัวได้บ้าง และเรื่องสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤติช่วงวัยกลางคนที่เริ่มมองหาความเป็นจริงของชีวิต

                “ช่วงเวลาแบบนี้ก็เริ่มมารู้จักกับคุณเล็ก (คุณจิณิณ ตระการสืบกุล) ที่ต้องมาทำงานออกแบบให้ ก็ชวนมาร่วมพัฒนาชุมชนด้วยกัน เริ่มจากการช่วยออกแบบโน่นบ้างนี่บ้าง ก็ช่วยโดยไม่คิดอะไร ด้านหนึ่งก็เป็นการให้ทีมงานน้องๆ ได้ฝึกฝีมือ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ ขึ้นมา แต่ว่าพอได้เริ่มร่วมงานกัน ก็เลยได้รู้ว่าคุณเล็กทำงานละเอียดมาก ซึ่งก็ตรงใจกัน ที่สำคัญ พบว่าผู้หญิงคนนี้น่าสนใจ มีความคิดที่เรียกว่ามหัศจรรย์ ก็มาเริ่มที่โรงเรียนบ้านปรางคล้า ถนนธนะรัชต์ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทั้งคุณเล็กและผมก็เริ่มดูจะมีความเชื่อในวิธีคิดที่เหมือนกัน ผมก็โอเค ก็ลงเต็มตัว ตั้งแต่ออกแบบ แนะนำคนที่มาทำ เราก็พาน้องๆ เข้ามาร่วม แล้วก็ต้องเก่งด้วย”

                ต่อข้อถามว่า ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนงานมูลนิธิฯ มานานแค่นไหน และได้เห็นอะไรบ้าง คุณใหม่ บอกว่า ก็ตั้งแต่ปี 65 และก็ได้หลายมุมมองมาก ตั้งแต่เรื่องธรรมะ ที่คุณเล็กบอกเหมือนบัว 4 เหล่า เราต้องเข้าใจเขา เราต้องใจเย็น คือคนเราแตกต่างกันอยู่แล้ว เวลาทำงานทุกคนต้องการทำเป้าใหเสร้จ แต่บางคนเขามาก็ด้วยอารมณ์ต่างๆ เราก็ต้องใจเย็น ฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน ฝึกความเข้าใจ ฝึกความแบ่งปัน ฝึกความให้อภัย หลายๆ อย่าง ก็จะคุยกับทางคุณเล็กตลอดว่าตอนนี้มาแบบมีปัญหาแบบนี้นะเราจะแก้กันอย่างไร

                สองพอมันเสร็จแล้ว ซึ่งตอนแรกเราเห็นเป็นอาคารอันหนึ่ง แต่พอมีเด็กนักเรียน มีคุณครู มาใช้งาน มีผู้ปกครองเข้ามา มีชุมชน และเขาเข้ามาเห็นสิ่งที่เราทำ แล้วเห็นรอยยิ้ม เห็นความไว้ใจ ความเชื่อใจ มันเหมือนเปิดรับเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เรามาช่วยเหลือเขานะ แล้วเขาก็ยินดี มันก็คือคำว่า อิ่มแก อิ่มใจ นั่นแหละ คือใครเห็นก็ยิ้ม อย่างเช่น เห็นน้องๆ มาใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นมัคคุเทศก์ เล่าเรื่องในโซนที่เขาดูแลต่างๆ เราได้เห็นความร่วมมือกัน

ต่อข้อถามถึงเชิงเปรียบเทียบทางสังคมเป็นอย่างไรบ้าง คุณใหม่ให้ความเห็นว่า อย่างตอนเด็กๆ เราเห็นภาพความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จริงใจต่อกับ้านติดกันทำแกงไปให้กัน แต่ตอนนี้ไม่มี แต่พอมาทำตรงนี้ ภาพเหล่านั้นมันย้อนกลับมา เราเห็นความร่วมมือของร้านผู้ประกอบการ เวลาเราจัดงานบวงสรวง เป็นความจริงใจต่อกัน ได้ช่วยเหลือกัน ภาพเหล่านี้ก็กลับมา ชุมชนเองก็เห็นลูกของเขาดีขึ้น เขาก็เข้ามาดู

                สำหรับเป้าหมายของมูลนิธิฯ คุณใหม่บอกว่า เป็นการยกระดับมาตรญานการเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ที่เรามีเป็นสโลแกนภาษาอังกฤษว่า Happy children, Happy community แล้วก็เป็น Happy Country อันนี้ที่เรามองไว้ ก็คือทุกคนมีความสุข เติบโตไปด้วยกัน เรียนรู้การแบ่งปัน มีความรัก ความเมตตา ให้อภัย  จริงใจต่อกัน จริงๆพวกนี้คือมันคือพื้นฐานจริงๆ แต่บางทีเราก็ลืมกัน อันนี้คือเป้าเป็นเป็นกรอบที่แบ่งออกไปได้เป็น 5 มิติ สังคม เศรษฐกิจคือการท่องเที่ยว สามคือสิ่งแวดล้อม ที่อันที่สี่ก็เป็นเรื่องของสันติภาพและสถาบัน อีกมิติก็คือเรื่องของความร่วมมือ ก็คือการสร้างความร่วมมือไปสู่ชุมชน ภาครัฐ การศึกษาต่างๆ แล้วก็ยกระดับไปสู่ระดับต่างประเทศ อันนี้ก็คือเป็น 5 เป็นพันธมิตรที่เรากำลังทำอยู่

แต่ตอนนี้ที่เราทำก็คือ ในเรื่องของหมวดของสังคม ก็คือการศึกษาก่อน แล้วเดี๋ยวขยับไปเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะถ้าชุมชนเริ่มเข้าใจ เห็นความร่วมมืออย่างความจริงใจอย่างนี้ เราก็ค่อยขยับในส่วนของของเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวได้ แล้วก็ทำให้เกิดเมืองเป็นโมเดล คือเรื่องของเศรษฐกิจก็คือเรื่องปากท้อง เราก็ต้องทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามา มีนักลงทุน บางส่วนเกิดการหมุนเวียน เมืองมีศักยภาพมากขึ้น แบบนี้คือเป้าหมายของมูลนิธิฯ

ต่อข้อถามว่า ทำไมจุดเริ่มต้นจึงไปอยู่ที่โรงเรียน คุณใหม่กล่าวว่า โรงเรียนเป็นเรื่องของความบริสุทธิ์ เป็นจุดที่ลูกหลานของชุมชนอยูที่นั่น เรื่องการศึกษาทุกคนก็ไม่ปฏิเสธที่อยากให้ลูกหลานดีขึ้น คุณเล็กก็เลยมาขอเริ่มต้นจากที่โรงเรียน จุดแรกเริ่มก็ที่โรงเรียนบ้านปรางคล้า ที่มีขนาดเล็ก อยู่ติดถนนเศรษฐกิจที่ไปสู่อุทยานฯ ที่นักท่องเที่ยวต้องผ่านไผผ่านมา ต้องเห็น เราจึงอยากทำเป็นโมเดลแรกแล้วค่อยขยายต่อไป

“เราเริ่มจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ปรับปรุงอาคารให้น่าอยู่ เรียกว่ามีมาตรฐานเทียบเท่ากับในเมืองใหญ่ๆ ที่เจริญ อย่าง เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ เปลี่ยนจากระบบตักราดเป็นระบบกดปุ่มสุขภัณฑ์ เรื่องของห้องสมุด ทาสีอาคารใหม่ มีงานเพ้นท์ศิลปะที่สวนงามเข้ามาในทุกพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้ชุมชนของเขาด้วยว่ามีอะไรบ้าง มีการปรับปรุงให้มีห้องเรียนรู้ประวัติศาสร์เขาใหญ่ ที่นักท่องเที่ยววสามารถเข้ามาเที่ยวชมได้ คุณครูเองก็สามารถพานักเรียนมาเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนได้ มีหลักสูตรเสริมในช่วงเสาร์อาทิตย์สอนภาษาจีนภาษาอังกฤษ อบรมเรื่องมารยาทบุคลิกภาพ สอนร้องเพลง”

นอกจากนั้น ก็จะมีเรื่องของสนับสนุนเรื่องการทำเกษตร ให้เด็กเรียนรู้ พร้อมตัดนำไปขาย แบ่งปันไปยังครอบครัว เจตนาก็คือให้เด็กได้ฝึกอาชีพ เกิดความร่วมมือในชุมชน อย่างโรงแรมก็จะมารับซื้อไป ก็เป็นเจตนารมณ์ของคุณเล็กที่จะให้เกิดความรู้ในการค้าขายที่อยากให้เด็กได้เรียนรู้ มีเป้าหมาย หรือที่การเป็นมัคคุเทศน์น้อยด้วย

แล้วที่สำคัญที่คุณเล็กย้ำก็คือเรื่องของศีลธรรม จริยธรรมมต่างๆ ซึ่งจริงๆ ในหลักสูตรการเรียนการสอนก็มีอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็เสริมเรื่องของการบอกเด็กๆ ว่า ไม่พูดปด ซื่อสัตย์กับตัวเอง จริงใจต่อผู้คนอื่น จริงใจต่อตัวเองด้วย

                ต่อข้อถามว่า มีแนวรองรับด้านทุนการศึกษาหรือเรื่องอื่นใดต่อจากนี้หรือไม่ คุณใหม่ บอกว่า ก็กำลังวางแผนอยู่ อย่างที่บ้านปรางคล้าจะเป็นเด็กในรัดับประถม ที่เราไปเริ่มอีกที่ที่ท่าช้างอันนี้เป็นระดับมัธยม แล้วเรากำลังหาอีกโรงเรียนหนึ่งที่อาจจะเป็นเหมือนเด็กโตขึ้น เช่นเป็นอาชีวะ เหมือนตอนนีที่เราก็เชื่อมกับทางราชภัฏก็เป็นนักศึกษา ก็อยากให้เป็นเหมือภาพพี่สอนน้องอย่างนี้ แต่กลับมาที่ตรงน้องมัคคุเทศก์ ก็กำลังจะทำให้ทางราชภัฏได้ช่วยช่วยวางเป็นเป็นระบบมากขึ้นคืออาจเป็นหลักสูตรถ้าเด็กมาจับตรงนี้แล้วสามารถไปต่ออย่างไรได้

                นอกจากนี้ ในด้านความเป็นอยู่ของบุคลากรครู มูลนิธิฯ โดยเฉพาะคุณเล็กยังมองเห็นว่าค่าครองชีพของคุณครูเมื่อหักลบค่าใช้จ่ายกับเงินเดือนแล้วก็แทบจะแทบจะไม่เหลืออะไร ซึ่งในส่วนของอาชีพเขาจะต้องมีมีการจัดทำแผนรายงานต่างๆ มากเหลือเกิน เราก็เลยคิดว่าส่วนหนึ่งถ้าเราช่วยเหลือตรงนี้เรื่องค่าใช้จ่ายคุณครูแล้วเขาจะได้มีเวลามาโฟกัสในเรื่องของการเรียนการสอนอย่างนี้ก็น่าจะดี อันนี้ก็เป็นเป็นเรื่องจะสร้างหอพักให้ ที่ก็เริ่มจากโรงเรียนปรางคล้าที่ 12 ห้อง เป็นโมเดลที่ให้คุณครู 2 คนพักอยู่ด้วยกัน แล้วก็ไปเสริมที่ท่าช้างต่อไปด้วย

ต่อข้อถามว่า มองระบบการสึกษาของไทยเป็นอย่างไรบ้าง คุณใหม่ ให้ความเห็นว่า เราต้องกลับมาดูว่าศึกษาของเราตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ กับคนรุ่นใหม่หรือไม่ ผมว่าผ่านมา 20 ปีแล้วในยุคผม การเรียนการสอนก็ไม่ต่างกันเลย นอกจากเมืองใหญ่ๆ ที่มีการเรียนรู้ว่ามีโอกาสมากขึ้น พ่อแม่ที่สามารถส่งลูกเรียนเสริมอันนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องของโอกาส แต่ภาพรวมเหมือนเดิม

ตอนนี้เรากำลังเริ่มทำอีกที่โรงเรียนท่าช้าง ซึ่งมีแผนจะเสร็จภายในปีนี้ ก็คือเป็นเรื่องของศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์โคราชก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย  แล้วก็ทำเป็นศูนย์กีฬาให้กับพื้นที่ในชุมชนนี้นอกจากโรงเรียนนี้แล้วก็จะมีอีกแผนก็คืออีก 5 โรงเรียนรอบๆ บริเวณเขาใหญ่ ก็จะมาดูเรื่องศักยภาพด้านอื่นๆ เพราะจะมีเรื่องราวที่จะนำเสนอแตกต่างกัน บางโรงเรียนก็จะเป็นเรื่องของนาฎศิลป์ เรื่องของกลองยาว เรื่องของการปลูกเห็ด เรื่องเทคโนโลยี อย่างนี้ก็ให้มันแตกต่างกันไป ทำให้เด็กๆ เกิดการสร้างมุมมองใหม่ๆ

เริ่มใหม่ๆ ประสบปัญหาอะไรบ้าง คุณใหม่บอกว่า ก็มีบ้างเนื่องจากเราลงไปใหม่ๆ ชุมชุนไม่ทราบว่าเราจะลงมาทำอะไร ก็เป็นความพยายามปกตที่จะปกป้องพื้นที่ ซึ่งอันนี้แหละที่เป็นเหตุผลที่เราต้องรีบทำ เพราะเราอยากให้ทุกคนเห็นภาพ ก้เริ่มที่ปรางคล้าเราก็เร่งทำให้เสร็จใน 3-4 เดือน พอเสร็จแล้วทุกคนก็ร้องอ๋อแบบนี้เอง อย่างนี้เอง ก็สวยอะไรอย่างนี้ ซึ่งอันนี้เห็นชัดเลย พวกเขาก็บอกพร้อมสนับสนุน เราก็ต้องยืนหยัดให้ได้ว่า เราลงมาทำจริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง

สุดท้ายมีเป้าหมายหรือปรัชญาในการดำเนินชีวิตอย่างไร คุณใหม่บอกว่า ถ้าเป็นปรัชญาของผม ผมเดินทางสายกลาง บางทีก็ต้องสำรวจตลอดเวลาว่า เราสร้างสมดุลได้ไหม แต่ละช่วงช่วงชีวิตทุกวัยก็จะมีจุดต้องการที่แตกต่างกัน บางทีอาจจะเป็นเรื่องของงาน เรื่องของเงิน เรื่องความมั่นคง เรื่องสุขภาพ แต่ตอนนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องของ ถ้าเราพร้อมจะช่วยช่วยเหลือใครสักคน พร้อมที่จะช่วยเหลือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในเมื่อเราพร้อมแล้ว เราทำได้ เราก็ทำผมเชื่อว่าอีกจุดหนึ่งก็คือ

ทุกวันนี้มันไม่มีอะไรที่แน่นอน วันหนึ่งเราอาจจะไม่มีชีวิตอยู่ก็ได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ ปรัชญาของผมก็คือ ทำวันนี้ให้มันเต็มที่และก็มีความสุขกับมันแค่นั้นเลยครับ ตอนนี้ด้านหนึ่งกอุทิศตนให้สังคม ตอนเราทำงาน เราก็ทำงานเพื่อแลกเงิน เพื่อปากท้อง มันก็มีเหตุผลที่เราทำ แต่ว่าเวลาการให้ ให้อีกแบบหนึ่ง เป็นงานทำให้สังคมแล้วเขายิ้ม เห็นรอยยิ้ม มันเป็นความสุข เป็นอีกอย่างหนึ่งที่อยากให้ทุกคนได้ ถ้ามีโอกาส เป็นการช่วยเหลือกันเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ให้สังคมดีขึ้น

“ผมเปรียบอย่างนี้ครับ เหมือนถ้าเราผมเดินบนถนน แล้วเห็นถังขยะใบหนึ่งมันล้มอยู่ ถามว่าคุณจะไปหยิบจับถังขยะมันตั้งขึ้นมา หรือคุณหรือใครบางคนอาจจะบ่นใครทิ้งทำไมไม่ยอมทำให้มันเรียบร้อย แต่ผมคิดว่าแค่ผมจับมันตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้วผมก็เดินไปก็แค่นั้นเอง แล้วเราก็ไม่ต้องไปคาดหวังคนอื่น ไม่ต้องไปหาเหตุผลใครเป็นคนทำวะ ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ผมว่า ชุมชนเราจะน่าอยู่ขึ้นเยอะเลยครับ จะเป็นเหมือนในอดีตที่เราเห็น ผมเชื่อว่ามันน่าจะเป็นภาพแบ่งปันสวยงามอะไรอย่างนี้มากกว่าครับ”

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 1 - 15 เมษายน 2568
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
03 เม.ย. 2568
จากสถาปนิกหนุ่ม ..... สู่สายธารเพื่อสังคมคนเขาใหญ่ ปัจจุบันในพื้นที่เขาใหญ่นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และด้วยอาณาบริเวณโอบล้อมไปด้วยธรรมชาติ ทั้งเทือกเขาที่รายล้อมไปทั่ว และยังรวมถึงธารน้ำที่รื่นร่มอีกหลายแห่ง ที่สำคัญไม่ห่างไก...