น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) วันที่ 6 ธันวาคม 2565 รับทราบรายงานตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ สำหรับรายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ ความคืบหน้าด้านกฎหมาย อาทิเช่น การยืนยันตัวตนจะกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่นนอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็ได้ ถ้าวิธีอื่นดังกล่าวนั้นจะเป็นการสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้นซึ่งบัญญัติใน มาตรา 8 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 และยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่จะบัญญัติไว้ใน ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. .... ที่ ครม. มีมติอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งความคืบหน้าด้านกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรองรับการนำโครงสร้างพื้นฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไปปรับใช้กับการให้บริการของหน่วยงานรัฐและเอกชน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ด้านที่สองคือ ด้านการจัดทำมาตรฐานทางด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศ เพื่อให้การพัฒนาและใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล ลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ซึ่งความคืบหน้าสรุปได้ดังนี้
1. มาตรฐานกลางสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ นำไปใช้งาน 6 ฉบับ ได้แก่
1.1 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล คือ 1.กรอบการทำงาน 2.ข้อกำหนดการพิสูจน์ตัวตน 3.ข้อกำหนดการยืนยันตัวตน
1.2 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ คือ การใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เล่ม 1 และ เล่ม 2
1.3 ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการทดสอบสมรรถนะการทำงานเทคโนโลยีชีวมิติ
2. มาตรฐานสำหรับหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย 2.มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสาหรับบริการภาครัฐ-ภาพรวม (เวอร์ชัน 1.0) และ 3.มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัลว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสาหรับบริการภาครัฐ-การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธณรมดาที่มีสัญญาติไทย (เวอร์ชัน 1.0)
นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (2565-2567) และแผนปฏิบัติการตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอด้วย โดยมีรายละเอียดกลยุทธ์หลัก 8 หลักการ คือ
1. Digital ID ครอบคลุมบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ พร้อมรองรับการยืนยันตัวตน การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจ และการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์
2. ประชาชนสามารถเลือกใช้ Digital ID ในระดับความเชื่อมั่นที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน
3. กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider: IdP)
4. การใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นร่วมกับการมอบอำนาจ หากจำเป็น
5. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของนิติบุคคลเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลผ่าน Digital ID
6. ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือและประชาชนใช้งานอย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อนด้วยมาตรฐานสากลแบบเปิด
7. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดนโยบาย Digital ID ในภาพรวม ซึ่งรวมถึงการพัฒนามาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานสอดคล้องกันและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยหน่วยงานกำกับในแต่ละภาคส่วนนำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงกำหนดนโยบายเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับบริการหรือธุรกิจที่กำกับหรือดูแล
8. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนได้มาตรฐานสอดคล้องกันและเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้
“สำหรับการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล ประกอบด้วย 2 ระบบ คือ 1.ระบบ FVS หรือ Face Verification Service เช่น พัฒนาระบบ FVS เพื่อให้บริการตรวจสอบภาพใบหน้ารองรับธุรกรรมสูงสุด 60 รายการต่อวินาที (5 ล้านรายการต่อวัน) และการตรวจสอบภาพใบหน้าใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมภาพใบหน้าเพื่อตรวจสอบกับระบบ FVS และ 2.ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID และแอปพลิเคชัน D.DOPA เช่น ขยายระบบรองรับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน D.DOPA เป็น 60 ล้านคน รองรับการยืนยันตัวตนสูงสุด 100 ธุรกรรมต่อวินาที และรองรับการพิสูจน์ตัวตนโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเพื่อรองรับการลงทะเบียนในการพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเองโดยใช้ภาพใบหน้าตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance Level: IAL) ที่ระดับ IAL 2.3” น.ส.ทิพานัน กล่าว