วันนี้ 06 ธ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีชาวบ้านจากหมู่ 4 ตำบลเขาโจน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นำโดยนายวีรเดช สอนใจ ได้เดินทางเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน การรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนที่หนึ่งเพื่อทำเหมืองแร่ชนิดเฟลสปาร์ โดยได้ปิดประกาศเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบโดยทั่วกันเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งคำขอประทานบัตรภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันปิดประกาศ
โดยผู้ร้องคัดค้านและประชาชนผู้สนับสนุนการคัดค้านเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หมู่ 4 ตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อว่า ‘ คณะทำงานตรวจสอบการขอประทานบัตร ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง คำขอประทานบัตรที่ 3/2565’ มีวัตถุประสงค์เพื่อพิทักษ์ปกป้องชุมชนและมีส่วนร่วมกับรัฐในการปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ชุมชนเขาโจด และพื้นที่โดยรอบและเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย องค์กรชุมชนเพื่อการดำเนินการดังกล่าวรวมทั้งตรวจสอบการขอประทานบัตรเมืองแร่ชนิดเฟลสปาร์ ของบริษัทเอกชนแห่งนี้ด้วย จึงมีความประสงค์ที่จะคัดค้านและเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินการทบทวนและยกเลิกคำขอจดทะเบียนประทานบัตร 3/2565 เนื้อที่ 257 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา เพื่อประกอบกิจการเหมืองแร่ชนิดเฟลสปาร์
นายวีรเดช สอนใจ กล่าวว่า การสูญเสียที่อาจจะได้รับต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ กล่าวคือทรัพยากรธรรมชาติทางด้านป่าไม้ป่าชุมชนป่าน้ำซับซึมป่าต้นน้ำระบบนิเวศรวมถึงแหล่งน้ำที่สำคัญจะถูกทำลายโดย สิ้นเชิงอาทิเช่นพื้นที่ป่าที่ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้สอยในการดำรงชีพมาตั้งแต่บรรพบุรุษรวมถึงแหล่งน้ำของลำห้วยกระพร้อย ที่ไหลลงสู่โครงการอ่างเก็บน้ำกระพร้อย
ส่วนความเสียหายที่อาจจะได้รับต่อการประกอบอาชีพเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนเกษตรกรรม ที่พึ่งพาทั้งแหล่งน้ำและความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาเมื่อมีการทำสัมปทานเมืองแร่แล้วการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพและวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนนอกจากนี้พื้นที่เขตคำขอประทานบัตรดังกล่าวอยู่ห่างจากชุมชนโรงเรียนวัดและสถานที่ท่องเที่ยวประมาณเพียง 1 กิโลเมตรซึ่งจะยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ของประชาชนในด้านสุขภาพร่างกาย และด้านจิตใจที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย
และการรังวัดกำหนดเขตพื้นที่ตามคำขอประทานบัตรไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 กล่าวคือตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560 ได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้ดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชนโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมและเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนทราบ รวมถึงกำหนดให้จัดทำข้อมูลเขตแหล่งแร่ที่รักจะอนุญาตให้ทำเหมืองไว้ในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 โดยรัฐจะอนุญาตให้ทำเหมืองได้เฉพาะในพื้นที่ที่แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่กำหนดให้เป็นพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2560 ซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่นี้ปรากฏว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวในการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรเป็นเขตในการดูแลของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระและเขตเตรียมผนวกของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ รวมถึงเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือเปล่าน้ำซับซึมที่ เชื่อมไหลสู่แหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
ดังนั้นทั้งการประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่ การรังวัดกำหนดเขตคำขอประทานบัตรรวมถึงการประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องการขอประทานบัตรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งฉบับลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 นั้นจะต้องมีการยกเลิกประกาศดังกล่าวเสียก่อนและให้มีการสำรวจจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่เพื่อนำไปประกอบพิจารณาในการกำหนดเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองต่อไปตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติพ.ศ. 2560 โดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่จะต้องไม่ใช้พื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่จะต้องมีการกั้นพื้นที่ดังกล่าวออกเสียก่อนที่จะมีประกาศกำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต่อไปต่อไป
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นและอาศัยตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. 2560 มาตรา 43 กำหนดไว้ว่าบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ์อนุรักษ์ฟื้นฟูหรือส่งเสริม ภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ จัดการบำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลย์และยังยืนตามวิถีการกำหนดบัญญัติและสิทธิคัดค้านการปิดประกาศของการประทานบัตร
ดังนั้นผู้ร้องคัดค้านจึงขอใช้สิทธิ์ตามหลักสิทธิชุมชนและสิทธิตามกฏหมายขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทบทวนและยกเลิกคำขอประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่เฟลปาร์ ดังกล่าวเสียนับตั้งแต่บัตรนี้เป็นต้นไปและแจ้งผลการดำเนินการภายใน 15 วันเพื่อผู้คัดค้านและประชาชนตำบลเขาโจดรวมถึงประชาชนหมู่บ้านใกล้เคียงให้ทราบต่อไปด้วย
ด้านนางอารยา ไสลเพชร อุตสาหกรรมจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตการขอประทานบัตร ตอนนี้อยู่ในขบวนการยื่นคำขอ และอยู่ในระหว่างการปิดประกาศ 30 วัน ชาวบ้านเห็นว่ามีการปิดประกาศก็เลยตกใจจึงได้รวมตัวกันมาคัดค้าน ซึ่งขณะนี้ขบวนการยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้นและยังไม่มีการดำเนินการอะไรแต่อย่างใด และตอนนี้ในพื้นที่มันมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ซึ่งการสร้างเหมือง จะเหลืออยู่ประมาณ 50 ถึง 60 ไร่ ซึ่งผู้ประกอบการจะมองว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือเปล่า ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องนำมาประมวลใหม่
ข่าวภูมิภาคกาญจนบุรี / ปรีชา ไหลวารินทร์ – รายงาน