ครม.ต่อสัญญาไทยแทงค์บริหารท่าเทียบเรือ และคลังสินค้าเหลว มาบตาพุดต่ออีก 30 ปี หลังกรรมการคัดเลือกมีมติไม่เปิดประมูล กนอ.นัดเอกชนลงนามสัญญาศุกร์นี้ เผยผลตอบแทน ได้รับตลอด 30 ปีที่ 2.02 หมื่นล้าน หรือปีละ 676 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอผลการคัดเลือกเอกชน และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (ร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ) เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับเอกชน ผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอร่วมลงทุนในโครงการนี้ต่อไป
ทั้งนี้ กนอ.มีการกำหนดพิธีลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยแท้งค์เทอร์มินัล จำกัด (บจก.ไทยแทงค์ฯ) ในการต่อสัญญาสัมปทานการบริหารโครงการบริเวณท่าเรือมาบตาพุดต่อไปอีก 30 ปี ในวันศุกร์ที่ 9 ธ.ค.นี้
สำหรับการต่อสัญญาให้บจก.ไทยแทงค์ฯ เป็นผู้รับสัมปทานในโครงการนี้ต่อไปอีก 30 ปีนั้นเนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ของกนอ. ในรูปแบบการให้เอกชนบริหารจัดการโดยให้สิทธิสัมปทาน ระยะเวลาโครงการ 30 ปี หลังจากวันที่สิ้นสุดสัญญาในฐานะที่เป็นโครงการใหม่ ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะนั้น
ต่อมากระทรวงอุตสาหกรรม โดย กนอ. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว ซึ่งเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และโดยที่ในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ มีความเห็นว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีประมูล
เนื่องจากหากมีเอกชนผู้ร่วมลงทุนรายใหม่เข้ามาดำเนินโครงการฯ แทนผู้รับสัมปทานรายเดิมจะทำให้การดำเนินโครงการฯ ขาดความต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ และทำให้ภาครัฐสูญเสียประโยชน์มากกว่ากรณีให้เอกชนรายเดินดำเนินการต่อไป โดยมีการคำนวณว่าหากมีเอกชนรายใหม่มาดำเนินการจะต้องมีขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิม การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ซึ่งอาจทำให้กิจการไม่สามารถดำเนินการได้เป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปี คิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจและต่อประโยชน์สาธารณะคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 182,440 ล้านบาทต่อปี แต่หากเจรจากับผู้ประกอบการรายเดิมให้ดำเนินการต่อเนื่องจะเกิดผลดีทางเศรษฐกิจมากกว่ากรณีที่มีรายใหม่เข้ามาบริหารงาน
คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ จึงได้ดำเนินการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดยเสนอเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เพื่อให้ความเห็นชอบให้ใช้วิธีการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโดยไม่ใช้วิธีประมูล และได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอ ครม.อนุมัติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ด้วย
ภายหลังจากที่ ครม.ได้มีมติดังกล่าวข้างต้น กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ จนเสร็จสิ้นแล้ว และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว โดย กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้นำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 มาใช้ประกอบการดำเนินการด้วย ซึ่งรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญไว้ในสัญญาร่วมลงทุนฯ
จากนั้น กนอ. ได้ส่งร่างสัญญาร่วมทุนฯ ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา ซึ่ง กนอ. แจ้งว่า กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ปรับแก้ไขร่างสัญญาตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วยแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบต่อผลการคัดเลือกเอกชน ร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ และเงื่อนไขสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนดังกล่าว
ทั้งนี้ กนอ. ยืนยันว่า ในการเจรจาเงื่อนไขสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ กับเอกชนคู่สัญญา กนอ. และคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ ได้ดำเนินการตามกรอบของสาระสำคัญของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนด โดย กนอ. ประมาณการว่าจะได้รับผลตอบแทนจากค่าให้สิทธิการร่วมลงทุน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านท่า ส่วนแบ่งรายได้จากการดำเนินโครงการฯ (ในอัตราไม่น้อยกว่า 5%) และค่าบริการสาธารณูปโภค รวมตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 ปี คิดเป็นมูลค่า 20,236.68 ล้านบาท หรือเท่ากับปีละ 676.26 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ของโครงการ - พื้นที่ของโครงการประมาณ 182.1 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่กักเก็บ ส่งจ่าย ทดสอบผสมเคมีภัณฑ์ชนิดเหลวและคลังเก็บสินค้า (I-30) 63 ตารางวา พื้นที่บริเวณคลังเก็บสินค้า จุดถ่ายสินค้าเหลว แนววางท่อส่ง และท่าเทียบเรือขนถ่ายสินค้าเหลว (1-26) 1 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา พื้นที่บริเวณแนวท่อส่ง Pipe Bridge 1 งาน 77 ตารางวา
อาคารสิ่งปลูกสร้าง ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน มีพื้นที่ประมาณ 2,138 ตารางเมตร อาคารสถานีไฟฟ้าย่อย 6 จุด มีพื้นที่ประมาณ 880 ตารางเมตร อาคารซ่อมบำรุง อาคารเก็บวัสดุ และอื่น ๆ มีพื้นที่ประมาณ1,698 ตารางเมตร หลักยึดเรือ Mooring Dolphin 1 จุด มีพื้นที่ประมาณ 875 ตารางเมตร หลักกันกระแทก Berthing Dolphin 14 จุด มีพื้นที่ประมาณ 971.16 ตารางเมตร ลานหน้าท่า 5 จุด มีพื้นที่ประมาณ 2,396 ตารางเมตร สะพานเหล็กสำหรับคนเดิน 25 จุด มีพื้นที่ประมาณ 588.1 ตารางเมตร สะพานคอนกรีตเชื่อมต่อทางเข้าท่าเทียบเรือ 4 ท่า มีพื้นที่ประมาณ 4,563 ตารางเมตร ถนนลาดยาง รับน้ำหนักมาตรฐาน มีพื้นที่ประมาณ 38,692 ตารางเมตร เครื่องจักรอุปกรณ์ ประกอบด้วย ถังเก็บสารเคมีหลากชนิด (ถังกักเก็บสินค้าเหลว) จำนวน 102 ถัง และถังกักเก็บของเสีย จำนวน 5 ถัง