"ปตท.สผ." ทุ่มงบแผนการดำเนินงาน 5 ปี (ปี 2566-2570) กว่า 29,100 ล้านดอลลาร์ รองรับการปรับแผนธุรกิจ 3 ด้าน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า จากความท้าทายของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และความมุ่งมั่นที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ปตท.สผ. จึงได้ปรับแผนกลยุทธ์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงาน 3 ด้าน (Pillar) ได้แก่ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) ทั้งการเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการในประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ และเร่งรัดการพัฒนาโครงการหลัก ๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน บริษัทยังให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonize) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 โดยเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture & Storage หรือ CCS) โครงการปล่อยก๊าซส่วนเกินซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมเป็นศูนย์ (Zero Routine Flare) เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท รวมถึงการดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) ผ่านโครงการปลูกป่าบก และป่าชายเลน ตลอดจนการดำเนินโครงการตามกลยุทธ์ทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) เกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูง หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้ง ธุรกิจที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับอนาคต
ในการดำเนินการดังกล่าว ปตท.สผ. จึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไว้ที่ 5,481 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 191,818 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure หรือ CAPEX) จำนวน 3,152 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 110,296 ล้านบาท) และรายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure หรือ OPEX) จำนวน 2,329 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 81,522 ล้านบาท) เพื่อรองรับแผนการดำเนินงาน ดังนี้
1. การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม รวมถึงเร่งกิจกรรมสำรวจ พัฒนาและผลิตเพิ่มเติมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย โดยได้จัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 2,655 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 92,925 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินกิจกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการผลิตต่าง ๆ ตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 อาทิ โครงการ CCS การใช้พลังงานหมุนเวียน การติดตั้งอุปกรณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น โดยจัดสรรรายจ่ายลงทุนในส่วนนี้ จำนวน 53 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,855 ล้านบาท)
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี (2566-2570) นั้น บริษัทได้จัดสรรงบประมาณรวม 29,100 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 1,006,676 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (Capital Expenditure) 18,123 ล้านดอลลาร์ รายจ่ายดำเนินงาน (Operating Expenditure) 10,977 ล้านดอลลาร์
นอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณข้างต้นแล้ว ปตท.สผ. ยังได้สำรองงบประมาณในการขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ สำหรับปี 2566-2570 จำนวน 4,800 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 166,052 ล้านบาท) ในการศึกษาและพัฒนาธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) การศึกษาธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด การต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ และธุรกิจอื่น ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
จากแผนงานดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. คาดการณ์ตัวเลขประมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยต่อวันจากโครงการปัจจุบัน ในปี 2566 ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 2567 ที่ 510,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ปี 2568 ที่ 535,000 ปี 2569 ที่ 531,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และ ปี 2570 ที่ 550,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
“นอกจากการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก รวมถึงการดำเนินงานที่มุ่งการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต ปตท.สผ. ยังเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับการเข้าลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ตามแผนกลยุทธ์ โดยเรากำลังมองโอกาสการลงทุนในธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวต่อไป” นายมนตรี กล่าว