รมว.แรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น มอบกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เทรนแรงงานภาคการเกษตรให้ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มผลผลิต มอบโรงเรือนต้นแบบเกษตรอัจริยะเพื่อเรียนรู้ 95 แห่งทั่วประเทศ
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในงบประมาณปี 2566 กรมได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการพิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานภาคการเกษตร สู่เกษตรอัจฉริยะหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดโครงการศูนย์เรียนรู้ โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะขึ้น โดยมีเป้าหมายในการทำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ ทั่วประเทศ รวม 95 โรงเรือน และกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้โรงเรือนละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานภาคการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง ตั้งเป้าหมายให้แรงงานภาคการเกษตรมีความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉรยะ ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 32,300 คน
นายประทีป กล่าวต่อไปว่า สำหรับจังหวัดชลบุรี เป็นอีกจังหวัดนำร่องที่มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรฯ จำนวน 15 แห่ง โดยระหว่างวันที่ 7 - 9 ธันวาคม 2565 สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี จึงจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้ รวมทั้งสิ้น 15 คน เพื่อให้มีความรู้ และสามารถถ่ายทอดความรู้ แนะนำวิธีการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในศูนย์เรียนรู้โรงเรือนเกษตรแม่นยำปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพด้านเกษตรอัจฉริยะ ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการอบรมดังกล่าวในแต่ละจังหวัดจะมีการจัดอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เรียนรู้เช่นกัน และหลังจากนั้น จะขยายผลให้ความรู้แก่เกษตรกรในพื้นที่ต่อไป ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าว สามารถสมัครเข้าอบรมโดยติดต่อได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วไประเทศ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4
ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อม ทั้งปัจจัยภายในโรงเรือนและภายนอก เช่น อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ความชื้นดิน ความเข้มของแสง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบควบคุมอัตโนมัติสำหรับการปลูกพืช การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน ระบบให้น้ำ ระบบพ่นหมอก ระบบการกักเก็บหรือจัดน้ำและเทคโนโลยีอื่นๆ อีกหลายด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกแบบมีโรงเรือน ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปลูกพื้นในพื้นที่ของตนเองได้ จะช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรมากขึ้น คุณภาพของพืชผักดีขึ้น จะส่งผลต่อต้นทุนและกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย นายประทีป กล่าวทิ้งท้าย