ตามที่ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมเวทีเสวนากิจกรรม “ฟัง-คิด-ทำ : ถึงเวลาหยุดคนโกง หยุดงบประมาณรั่วไหล” ซึ่งได้กล่าวถึงผลการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และกล่าวหากระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้น
รฟม. ใคร่ขอเรียนชี้แจงและยืนยันกรณีดังกล่าวดังนี้
1) การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ตามประกาศเชิญชวนฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่โปร่งใสภายใต้ข้อตกลงคุณธรรม ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนได้ส่งผู้สังเกตการณ์ 5 ท่าน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการพิจารณาคัดเลือกเอกชนฯ ทุกขั้นตอน และไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ได้รับแจ้งข้อสังเกตใดจากผู้สังเกตการณ์
2) การคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งแรก ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ได้เคยยื่นข้อเสนอไว้นั้น ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และเอกชนที่ยื่นข้อเสนอฯ ทั้ง 2 ราย ได้รับคืนซองเอกสารข้อเสนอฯ แล้ว จึงไม่สามารถกลับไปดำเนินการให้แล้วเสร็จได้อีก และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่แต่อย่างใด
3) ข้อเสนอของ BTSC ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนเมื่อปี 2563 ตามที่กล่าวอ้างก็มิได้ผ่านการตรวจสอบและพิจารณาตามเกณฑ์การประเมินที่ประกอบด้วยข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ข้อเสนอด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จึงไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้กับข้อเสนอที่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์และกระบวนการที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้
4) การที่ BTSC ไม่เข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนครั้งใหม่ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 โดยกล่าวอ้างว่าการกำหนดเงื่อนไขทำให้พันธมิตร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งฯ ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ ศาลปกครองกลางก็ได้คำสั่งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่ BTSC ร้องขอ ซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองกลางได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 6 พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ประกาศเชิญชวนฯ มีการเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมการคัดเลือกมากขึ้น เกิดการแข่งขันมากกว่าประกาศเชิญชวนฯ ฉบับวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ประกาศเชิญชวนฯ จึงไม่มีลักษณะตัดสิทธิหรือกีดกันผู้ร้องมิให้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอ ซึ่งผู้ร้องฯ สามารถยื่นข้อเสนอได้เช่นเดียวกันกับเอกชนรายอื่น
5) รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)