ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
ปลัด มท. เปิดกิจกรรมประกวด ผลิตภัณฑ์ Young OTOP
13 ธ.ค. 2565

ปลัด มท. เปิดกิจกรรมประกวดผลิตภัณฑ์ Young OTOP พร้อมชื่นชมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำน้อมนำพระดำริ "ทูลกระหม่อมสิริวัณณวรีฯ" ไปพัฒนาตนเอง ถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัวและชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการประกวดผลงานผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายเยาวชน OTOP (Young OTOP) ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกายตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ THEATRE และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบลายผ้าและพัฒนาผ้าไทย นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น นายตะวัน ก้อนแก้ว ผู้ช่วยบรรณาธิการแฟชั่น Vogue และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น นายสธน ตันตราภรณ์ ที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์และนักเขียนแฟชั่น และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ทเนศ บุญประสาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบแฟชั่น อาจารย์ ดร.วุฒิไกร ศิริผล ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติ นางสุมา วงษ์พันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด ศิลปิน/ผู้ประกอบการ Young Otop ผู้เข้าร่วมการประกวด และภาคีเครือข่าย ร่วมในงาน
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ได้รับรางวัล จำนวน 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ นางสาวกนกนิภา รัตนศิลา กลุ่มผ้าซิ่นเมืองน่านโบราณ by คำไทด์ รางวัลรองชนะเลิศ นางสาวอารียา บุญช่วยแล้ว กลุ่ม INTHAI รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวศิริมา สงพิมพ์ กลุ่มวนิดาไหมไทย รางวัลชมเชย นางสาวภูริษา ชัยรัตน์ กลุ่มภูริษาผ้าไทย และนายวัชรพล คำพรหมมา กลุ่มครามพล (KRAMPHON) และมอบประกาศนียบัตรผู้ผ่านเข้ารอบการประกวด Young Otop จากทุกภาค รวมจำนวน 107 ราย
"ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศ อันดับ 2 และชมเชย รวม 5 รางวัล ได้รับพระกรุณาธิคุณที่จะได้มีโอกาสสำคัญของชีวิตเข้าพระราชทาน "รางวัลต้นกล้านารีรัตน" จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในพิธีเปิดงานเทศกาลไหมไทย ประจำปี 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการ และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ช่วยกันในการเปิดเวทีและเปิดโอกาสให้ลูก ๆ หลาน ๆ ของพี่น้อง OTOP พี่น้องวิสาหกิจชุมชน และพี่น้องศิลปาชีพ มีโอกาสได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ควบคู่กับภูมิปัญญาผ้าไทยที่ปู่ ย่า ตา ยาย และคุณพ่อ คุณแม่ของน้อง ๆ เหล่านี้ ได้ช่วยกันสนองแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และยังเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งในการช่วยแบ่งเบาพระราชภาระของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงเพียรพยายามสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงยอมเหน็ดเหนื่อย ทรงอุทิศทุ่มเทพระวรกาย และพระสติปัญญา โดยเสด็จไปยังจังหวัดหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคเป็นประจำติดต่อกันเป็นปีที่ 3 โดยพระราชทานพระวินิจฉัยคำแนะนำให้กับพี่น้อง OTOP พี่น้องศิลปาชีพทุกครั้งที่เสด็จไป และชาวพัฒนาชุมชนได้ร่วมกันสนองงานด้วยการติดตามความคืบหน้าการปรับปรุงผลงานตามพระวินิจฉัยอยู่เสมอ ทั้งยังได้เชื้อเชิญผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงนักออกแบบตัดเย็บ (ดีไซเนอร์อาชีพ) มาเป็นกรรมการตัดสิน มา Coaching เพื่อให้น้อง ๆ มีโอกาสได้รับคำแนะนำดี ๆ ความคิดเห็นดี ๆ ไปพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ ผลิตชิ้นงานมากขึ้นดังพระประสงค์ของพระองค์ท่าน ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงเป็นการช่วยแบ่งเบาพระราชภาระ และช่วยผลักดันขับเคลื่อนทำให้พระประสงค์ของพระองค์ท่านที่ทรงอยากเห็นพวกเรามีการพัฒนาฝีมือ พัฒนาความรู้ความสามารถ จนสามารถส่งออกชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงานเป็นที่นิยมชมชอบ ทำให้ลูกค้าติดใจและใฝ่หาที่จะต้องอุดหนุน สวมใส่หรือใช้ประโยชน์อื่น ๆ อันมีนัยยะที่ชัดเจน คือ "ทำให้ทุกคนมีรายได้ดีเพิ่มมากขึ้นอย่างยั่งยืน"
"ขอให้ภาคภูมิใจว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังทำอยู่นี้ คือ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" เพราะรายได้ที่เกิดขึ้นจากการที่ทุกคนนำพระวินิจฉัยของพระองค์ท่านและคำแนะนำของคณะกรรมการฯ ไปคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผลงาน "ลงมือทำทันที" จนสำเร็จ ไม่ใช่ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองแล้วไม่ทำ ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลใจว่าอนาคตจะตีบตันเพราะคิดไม่ออกว่าเทรนด์แฟชั่นในปี 2570 หรืออีกกี่ปีข้างหน้า จะผลิตชิ้นงานให้ถูกใจผู้คนได้อย่างไร เพราะสิ่งที่เราได้รับจากการทรงถ่ายทอดของพระองค์ท่าน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งโอกาสที่ได้รับในหลายเวที หลายกิจกรรมเหล่านี้ จะกลายเป็นรากฐานที่สำคัญ ทำให้เกิดสติปัญญาในการพัฒนาผลงานของแต่ละกลุ่ม ของแต่ละรุ่น อันจะเป็นรากฐานทำให้เราสามารถไปพัฒนาต่อยอด งานหัตถศิลป์หัตถกรรมหรืองานผ้าในอนาคตต่อไป ส่งผลทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีจากชิ้นงานที่ถูกใจลูกค้าผู้บริโภค" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ฯ ได้กล่าวต่ออีกว่า วันนี้เป็นวันที่พิสูจน์แล้วว่า ทุกคนที่ได้ผ่านเข้ารอบ จะสามารถยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเองได้ ภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่าน และจะสำเร็จอย่างยั่งยืน หากผู้ชนะและผู้เข้าร่วมประกวดทุกคน เราต้องใช้ความรู้ความสามารถ ทักษะ และข้อแนะนำต่าง ๆ ไปทำงานร่วมกับกลุ่มของเรา โดยน้อมนำแนวทางตามพระวินิจฉัย อาทิ 1) ต้องทำงานแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุธรรมชาติ ใช้สีธรรมชาติ ไม่ใช้สีเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังหลักการที่ปรากฏในหนังสือ "Thai Textiles Trend Book" ที่พระองค์พระราชทานความรู้ ทำให้เราเห็นว่าสีธรรมชาติที่ถูกพยากรณ์จะเป็นที่นิยม แล้วก็เป็นที่นิยมจริง ๆ  2) ใช้ความคิดสร้างสรรค์ คิดเพิ่มพูนดัดแปลงแบบลวดลายผ้าโดยไม่ละทิ้งลวดลายดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ด้วยการลดขนาด พลิกด้าน สลับลาย เติมเสริมแต่ง เพื่อให้ถูกใจคนรุ่นใหม่ เช่น บางคนอาจจะชอบแบบละเอียด บางคนชอบลวดลายเก่า บางคนชอบลวดลายแบบตะวันตก การทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสดีของชีวิตที่จะเจาะเข้าไปสู่ใจลูกค้า 
"นอกจากนี้ พระองค์ท่านได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "การพึ่งพาตนเอง" ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาไว้ในชีวิตของพวกเรา ด้วยการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม โดยได้พระราชทานหนังสือ The Sustainable City ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยมาศึกษา และพระราชทานแนวพระดำริเรื่อง Sutainable Village "หมู่บ้านยั่งยืน" เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกชุมชน/หมู่บ้าน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 ทุกชุมชน/หมู่บ้านก็จะเห็นความคึกคักของทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมหาดไทยทั้งท่านนายอำเภอ ปลัดอำเภอ พัฒนากร ฯลฯ จะลงไปเยี่ยม ไปพูดคุย ไปชวนพวกเราทำชุมชน ตำบล หมู่บ้านให้เป็น "หมู่บ้านยั่งยืน"  โดยทุกจังหวัดจะช่วยกันคัดสรรหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาน้อยที่สุดของแต่ละตำบล แล้วช่วยกันส่งเสริมพัฒนาดูแลครัวเรือนในหมู่บ้านนั้น ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพรในบริเวณบ้าน รวมทั้งน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาใช้ในชีวิตประจำวัน และส่งเสริมแนวคิดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การแก้ไขภาวะโลกร้อน ด้วยการคัดแยกขยะและทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ให้ครบทุกครัวเรือน ช่วยกันรวมกลุ่มดูแลซึ่งกันและกัน ทำให้พื้นที่สาธารณะมีความร่มรื่น สวยงาม มีไม่ดอก ไม้ประดับ ไม้ผล เป็นประโยชน์กับทุกคน และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องรักษาประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของความเป็นคนไทย  คือ ความรักกัน ความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยกันดูแลชุมชนให้ห่างไกลยาเสพติด และอบายมุขทั้งปวง เป็นต้น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอแสดงความยินดีกับทุกคนที่เข้าประกวด เพราะทุกคนคือผู้ที่ก้าวผ่านสิ่งที่เรียกว่า ทั่วๆไป ขึ้นมาเป็น "ผู้ที่อยู่ในระดับแนวหน้า" แม้ว่าจะยังเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา อายุยังไม่มาก ก็ได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่า เป็นผู้นำความรู้มาใช้ประกอบกับอาชีพจนประสบความสำเร็จจนได้รับการยอมรับของสาธารณชนในวงกว้าง ทั้งนี้ ทุกรางวัลในวันนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เตือนใจพวกเราว่าถ้าเรากล้าคิดกล้าทำ เราก็จะได้รับรางวัลชีวิตไม่มีสิ้นสุด และขอให้นำประสบการณ์จากการเข้าร่วมประกวดไปใช้ในชีวิตประจำวัน ไปพูดคุยถ่ายทอด ยกระดับต่อยอดกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม คนในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายสำคัญของการประกวด คือ เรามีความเข้มแข็งและเติบโตเป็นผู้ผลิตชิ้นงาน ศิลปะ งานแฟชั่น งานหัตถศิลป์ หัตถกรรมสนองต่อความต้องการของลูกค้า ดังพระดำริ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์สู่สากล จนมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อันจะเป็นยาบำรุงถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้ทรงมีพระกำลังใจในการทุ่มเทอุทิศพระวรกาย พระสติปัญญา ที่ทรงเหนื่อยยากลำเค็ญเสด็จไปช่วยพวกเราถึงจังหวัดถึงอำเภอ ตราบนานเท่านาน

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน น้อมนำพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มาขับเคลื่อนขยายผล โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ประกอบการ OTOP หรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น (Young OTOP) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการ OTOP รุ่นใหม่ ให้มีความสามารถในการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มโดยดึงเสน่ห์เรื่องราวมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์เฉพาะตัว ร่วมสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและสามารถแข่งขันในช่องทางการตลาดได้ ซึ่งจะทำให้ Young OTOP มีอาชีพ มีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนวางรากฐานให้คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาทนแทนคนรุ่นเก่าที่กำลังร่วงโรยลงไป เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาดั้งเดิมและต่อยอดการพัฒนาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเติบโตเป็นกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบ OTOP ที่มีความเข้มแข็งในอนาคต ซึ่งกิจกรรมประกวดฯ  Young OTOP สู่สากล ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นใยธรรมชาติ ดีไซเนอร์นักออกแบบผ้าไทยที่มีชื่อเสียง ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ ตลอดทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาเป็นกรรมการการตัดสินการประกวดในครั้งนี้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 พฤศจิกายน 2567
อปท.นิวส์เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
12 ก.ย. 2567
กล่าวได้ว่าบทบาทของตำรวจไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายท่านหลายคน หลังจากผ่านความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบากในการผดุงความยุติธรรม ไล่จับคนร้ายทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กมาตลอดชีวิตราชการ เห็นความทุกข์ยาองประชาชน เห็นปัญหาของสังคมในทุกแง่มุม อดไม่ได้ที่หลังเกษียณจะก้าวเข้าส...