นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ผักกระชับ เป็นผักพื้นบ้านในภาคตะวันออก อยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน จะเกิดขึ้นหลังจากฤดูทำนาปีในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน และเจริญเติบโตในช่วงฤดูแล้ง รสชาติอร่อย มีความหอมเป็นเอกลักษณ์ และให้คุณค่าทางโภชนาการสูง ปัจจุบันเป็นผักที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น จึงมีเกษตรกรทำการผลิตผักกระชับในแปลงเพาะปลูก เพื่อจำหน่ายและสามารถสร้างรายได้ในราคา 100-150 บาทต่อกิโลกรัม
ผักกระชับเมื่อเทียบกับพืชผักชนิดต่างๆ ในท้องถิ่น พบว่ามีราคาสูงกว่าและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการเพาะปลูกผักกระชับ มีโรคและแมลงศัตรูน้อย จึงเหมาะที่จะทำการผลิตเป็นพืชอินทรีย์ได้ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมจันทบุรี สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับแบบครบวงจร เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในกระบวนการปลูกผักกระชับ โดยชุดเครื่องมือแบบครบวงจรของเครื่องจักรกลสำหรับผักกระชับประกอบด้วย เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ เครื่องเกี่ยวนวดกระชับ และเครื่องเพาะต้นอ่อนผักกระชับ
เครื่องปลูกกระชับในแปลงเมล็ดพันธุ์ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการปลูกผักกระชับเพื่อใช้เป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับการปลูกต้นอ่อนกระชับ และลดเวลาการหยอดเมล็ดของเกษตรกร เครื่องปลูกกระชับ มีขนาด กว้าง 1.5 เมตร ยาว 1.5 เมตร สูง 1.5 เมตร ติดพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาด 36 แรงม้า ใช้ล้อขับเคลื่อนในการหมุนให้เมล็ดกระชับลงในร่องที่เปิดเตรียมไว้ โดยมีความสามารถในการทำงาน 1.07 ไร่ต่อชั่วโมง เร็วกว่าการใช้แรงงานคนเดินปลูกที่สามารถทำงานได้เพียง 0.5 ไร่ต่อชั่วโมง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 0.84 ลิตรต่อชั่วโมง จำนวนเมล็ดกระชับในหลุมปลูกเฉลี่ย 5เมล็ด/หลุม ระยะห่างระหว่างแถวเฉลี่ย 55 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมเฉลี่ย 52 เซนติเมตร ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์วิศวกรรมพบว่า การปลูกกระชับด้วยเครื่องต้นแบบมีต้นทุนค่าใช้จ่าย 168 บาทต่อไร่ มีจุดคุ้มทุนเมื่อทำงาน 302 ไร่ และระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3 ปี