ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คอลัมนิสต์ประจำอปท.นิวส์ ย้อนกลับ
จีนรับความเสี่ยง ปรับนโยบายโควิด
22 ธ.ค. 2565

โลกของจีน โดย ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

จีนรับความเสี่ยง ปรับนโยบายโควิด

การที่ประธานาธิบดี สี  จิ้นผิง ยอมถูกนินทาและถูกด่าในการเลือกใช้ยุทธศาสตร์โควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น Dynamic zero COVID ) ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพราะไม่อาจยอมรับทฤษฎีของฝั่งตะวันตกที่ว่า ถ้าติดเชื้อกันมากๆแล้วจะเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างที่รัฐบาลไทยรีบเชื่อและเร่งเปิดประเทศ   

เพราะจีนไม่สามารถเสี่ยงกับประชากรที่มีอยู่ 1,400 ล้านคน จึงสู้ยอมปิดเมือง เร่งระดมฉีดวัคซีนที่สามารถผลิตได้เอง หาทางควบคุมและกำจัดเชื้อไวรัสให้สิ้น โดยเชื่อมั่นว่าวินัยของคนจีน ผสมมาตรการที่เด็ดขาดและวัคซีนจีนจะเอาชนะไวรัสได้

นักวิชาการด้านการแพทย์ทั้งของจีนและฝั่งตะวันตกเคยฉายภาพที่น่าหวาดกลัว คนจีนบนแผ่นดินใหญ่อาจต้องเสียชีวิตจากเชื้อโควิดมากกว่า 2 ล้านคน ถ้าผ่อนคลายมาตรการอย่างที่ฮ่องกงเคยทำ เพราะทันทีที่ฮ่องกงผ่อนคลายความเข้มงวด ตัวเลขการติดเชื้อและเสียชีวิตได้พุ่งสูงในระดับโลก

นักวิทยาศาสตร์ในจีนและสหรัฐฯ ประเมินว่า แม้ความรุนแรงจะน้อยลง แต่การติดเชื้ออาจแพร่กระจายมากกว่า 200 ล้านคน สร้างความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากกว่า 1.5 -2 ล้านคน ถ้ายกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์โดยไม่เพิ่มการฉีดวัคซีนและเข้าถึงการรักษา เพราะความต้องการห้องไอซียูจะพุ่งเกินขีดความสามารถถึง 15 เท่า  ดังภาพที่เคยปรากฏในประเทศไทยที่ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

นักวิจัยทั้งชาวจีนและต่างประเทศเห็นตรงกันว่า อัตราการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้นในจีนยังต่ำ จึงยังขาดภูมิคุ้มกันหมู่ หากยกเลิกมาตรการควบคุมที่เข้มข้นก็จะเกิดความเสี่ยงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังการประท้วงใหญ่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะเป็นการท้าทายอำนาจประธานาธิบดีสี ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติต่ออายุการเป็นผู้นำสูงสุดของจีนจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิส์จีน แม้จะตำหนิเหล่านักศึกษาที่ลุกขึ้นมาจุดชนวนการประท้วง แต่ผู้นำจีนได้แสดงท่าทีผ่อนคลายความเข้มงวด ด้วยคำกล่าวที่ว่า โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดในขณะนี้มีความอันตรายน้อย และปูทางให้จีนผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ลง    

3 ปีที่ผ่านมา จีนทุ่มเทเวลาและงบประมาณมหาศาลในการควบคุมการแพร่ระบาด ยอมสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจ หรืออีกทางคือความถดถอยทางเศรษฐกิจด้วยเหตุว่า “เพื่อรักษาชีวิตคนจีน” ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลหรือความชอบธรรม หากจะใช้วิธีการรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสมัย “เทียนอันเหมิน” เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ซึ่งสื่อตะวันตกเคยรายงานว่า เป็นเหตุการณ์การ “สังหารหมู่” ที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คน

ความเด็ดขาดของการบังคับใช้กฎหมายในจีนนั้น เป็นที่เลื่องลือว่า หากศาลตัดสินประหารชีวิตก็คือประหารไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ สารภาพเหลือครึ่งราคา ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกมาชูคอในสังคมได้อีกครั้ง เพราะมีกระบวนการช่วยลดหย่อนผ่อนโทษกันได้หากบารมีถึง เงินถึงเหมือนในประเทศสารขัณฑ์

แต่ถึงกระนั้นก็เถอะ ขึ้นชื่อว่าคน อาจจะขังกายได้แค่ขังจิตใจไม่ได้ มาตรการล็อคดาวน์ที่ล็อคแล้วล็อคอีก โดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไร เมื่อมาเห็นภาพนานาประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายการควบคุม เห็นการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ได้ออกกินข้าวนอกบ้าน ได้ออกท่องเที่ยวสนุกสนานเบิกบานต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นจุดหมายหลักของคนจีน เห็นภาพนักท่องเที่ยวทั่วโลกออกันแน่นที่ด่านตรวจขาเข้า แต่ไร้นักท่องเที่ยวจีนที่เคยครองอันดับ 1 เคยเยือนไทยปีละ 11 ล้านคน

ความอึดอัดในการใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ซึ่งไม่ต่างกับการถูกลงโทษกักบริเวณ ความยากลำบากจากการขาดแคลนรายได้ บางชุมชน บางพื้นที่ประสบปัญหาด้านอาหารการกิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลแบบไม่ถั่วถึงหรือไม่ใส่ใจ ฯลฯ  ความเหลืออดมาถึงจึงต้องลุกขึ้นมาร้องตะโกนดังๆ กันบ้าง แม้จะท้าทายอำนาจรัฐ แม้จะมีโอกาสถูกจับกุมเข้าคุก เพราะมันก็แค่เปลี่ยนบรรยากาศจากห้องสี่เหลี่ยมในบ้านไปนอนคุกที่มีลูกกรง มียามดูแล 24 ชั่วโมง มีอาหาร 3 มื้อ แถมยังได้เพื่อนคุยมากขึ้น

การลุกขึ้นมาอีกครั้งของนักศึกษาและประชาชนในรอบ 3 ทศวรรษ ที่แม้จะมีเสียงแทรกโจมตีตัวผู้นำหรือพรรคการเมืองบ้าง แต่จุดมุ่งหมายหลักคือ ปฏิเสธการล็อคดาวน์และขอคืนการใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งน่ายินดีที่รัฐบาลปักกิ่งยอมฟังและมีการตอบสนองค่อนข้างจะรวดเร็วในการปรับปรุงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่เคยใช้มา รวมทั้งการตรวจหาเชื้อ การรักษา และการกักตัว

ถึงขณะนี้หลายเมืองได้ยกเลิกข้อกำหนดให้แสดงผลการตรวจโควิดเพื่อใช้ระบบขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าความเร็วสูงระหว่างเมือง หรือสถานที่ที่มีผู้เข้าใช้บริการจำนวนมาก อย่างซูเปอร์มาเก็ต สวนสาธารณะ      

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาให้ความเห็นว่า รัฐบาลจีนควรจะพิจารณาใช้วัคซีนนำเข้าจากต่างประเทศ อาทิ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ชาวจีนในประเทศ เนื่องจากวัคซีนที่ผลิตในจีนมีประสิทธิผลน้อยกว่า และอาจจะควบคุมสายพันธุ์โอมิครอนไม่อยู่ แม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่า 

ข้อเสนอดังกล่าว ตอบได้ทันทีว่า เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเท่ากับเป็นการตบหน้ารัฐบาลจีน และเป็นการยอมรับว่า  วัคซีนจีนอย่าง ซิโนแวค  ซิโนฟาร์ม ที่ระดมฉีดไปทั้งประเทศ แถมยังบริจาคให้นานาชาติ รวมทั้งไทยจำนวนนับพันล้านโดสนั้น ด้อยประสิทธิภาพจริงอย่างที่ฝรั่งชาติตะวันตกวิจารณ์

หรือจะเป็นคำตอบว่า ทำไมรัฐบาลจีนจึงยังต้องใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ทั้งๆ ที่ 90.4 % ของประชากรจีนได้รับวัคซีน 1 เข็มขึ้นไปแล้ว  และ 89.7 % ของประชากรได้รับครบโดส 2 เข็ม ซึ่งน่าจะมากเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

อย่าลืมว่า ในช่วงวิกฤติที่โควิด-19 ระบาดหนักและผู้คนตายเป็นใบไม้ร่วง WHO นั่นแหละที่อนุมัติรับรองวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์มของจีน ว่ามีความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ให้ใช้ได้กรณีฉุกเฉิน  

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...