ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสิงคโปร์ (thaibizsingapore.com) ระบุว่า สิงคโปร์เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 8 ของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสิงคโปร์ จากสถิติของกระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากร ปริมาณการค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่ารวม 644,383 ล้านบาท (18,534 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.87 แบ่งเป็นการส่งออก 354,557 ล้านบาท (10,272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.83 และการนำเข้า 289,825 ล้านบาท (8,262 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขยายตัวร้อยละ 23.91 โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 64,732 ล้านบาท (2,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.48
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของกรมสถิติสิงคโปร์ (www.singstat.gov.sg) การค้าไทย-สิงคโปร์ ปี 2565 มีมูลค่า 1.06 ล้านล้านบาท (42,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ซึ่งสูงกว่าสถิติของฝ่ายไทยที่กล่าวข้างต้น
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงของสิงคโปร์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือเพิ่มจาก 12,273 ล้านบาท เมื่อปี 2562 เป็น 44,286 ล้านบาทในปี 2565 โดยสิงคโปร์เพิ่มการลงทุนในภาคการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง การเงินและประกันภัย และการผลิตสินค้าอาหารในช่วงปี 2564-2565 ต่อเนื่องจากการขยายการลงทุนด้านเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ เมื่อปี 2561-2562
ที่กล่าวมานี้ยังเป็นส่วนน้อยที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเจริญรุดหน้าขึ้นมาโดยตลอด จนในปี ค.ศ.1993 (พ.ศ. 2536) จึงมีการก่อตั้งหอการค้าสิงคโปร์-ไทย (Singapore-Thai Chamber Of Commerce : STCC) ขึ้น โดยยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของสภาหอการค้าไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราคงไม่ได้จะมากล่าวถึงด้านการค้าการขายโดยตรงกับสิงคโปร์ แต่จะพาท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในหอการค้าสิงคโปร์-ไทยแห่งนี้ นั่นก็คือ “ดร.อลัน ลิม (Dr. Alan Lim)” ประธานหอการค้าสิงคโปร์-ไทย (Chairman of Singapore-Thai Chamber Of Commerce) ที่ได้รับเกียรตินั่งเก้าอี้เป็นประธาน STCC มาแล้ว 3 สมัย จนถึงปัจจุบัน ในทางธุรกิจ ดร.อลัน นั่งอยู่ในตำแหน่ง Vice President Specialty Converting บริษัท โฟมเทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Foamtec International Co., Ltd.) ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี 2540 ประกอบด้วยโรงงานในประเทศไทย 3 สาขา และสาขาในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, จีน และสหรัฐอเมริกา ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปโฟมคุณภาพ, ฟิล์ม, ฟองน้ำวิทยาศาสตร์, ผลิตสินค้าที่ใช้ในห้องสะอาด (Clean Room) ที่มีคุณภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์และเภสัชกรรม (Medical and Pharmaceutical industries)
และแน่นอนว่า ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านการค้าการขาย บวกกับบุคลิกที่ดูเป็นคนโอบอ้อมอารีมีอัธยาศัย ดร.อลัน ยังเป็นประธานผู้สำเร็จหลักสูตร การบริหารการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ภาครัฐร่วมเอกชน (บรอ.) รุ่นที่ 9 วิทยาลัยการตำรวจ และยังได้รับเกียรติให้เป็นประธานหลักสูตรผู้บริหารไทย-จีน รุ่นที่ 1 ของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว ทิศทางชีวิตของแต่ละคนกล่าวได้ว่า คงไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบกันถ้วนหน้ากว่าจะมายืนทุกจุดสุงสุดที่ใครๆ ก็ยอมรับได้เป็นแน่ ซึ่งก็เช่นเดียวกับ “ดร.อลัน” ชายที่มีบุคลิกอัธยาศัยคนอารมณ์ดีในวัย 58 ปี ที่ได้เริ่มเล่าชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่ใช่น้อย ด้วยภาษาไทยที่คล่องแคล่วราวกับคนไทยแท้เป็นกันเองกับ อปท.นิวส์ อย่างเปิดอกให้ฟังว่า ตัวเขาเป็นคนสิงคโปร์ เกิดที่สิงคโปร์ เป็นเด็กกำพร้าที่ครอบครัวหนึ่งที่มีอาชีพเป็นเจ้าของร้านขายกาแฟรับมาเลี้ยงตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บุญธรรมให้ความเมตตาเป็นอย่างมาก จนวันหนึ่งในวัย ประมาณ 12 ขวบ ชีวิตก็เริ่มต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจากทางการสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนยุคมีการเวนคืนที่ดินขยายประเทศ คุณแม่เลือกที่จะขอรับเงินแทนที่การเลือกที่ดินไปทำกันที่อื่นเพราะก็เริ่มมีอายุแล้ว และด้วยจำนวนเงินที่ได้มาก็น่าจะพอทำให้ชีวิตไม่ทุกข์ยากลำบากอะไรมากนัก
“แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อคุณแม่ต้องมาป่วยเป็นโรคมะเร็ง ไปหาหมอที่หนึ่งก็ต้องจ่านค่ายาค่ารักษาถึง 2,000 เหียญต่อครั้ง หรือประมาณครั้งละ 50,000 บาท เดือนหนึ่งต้องไปถึง 4 ครั้ง รักษาอยู่ 2 ปีกว่า คุณแม่ก็เสียชีวิต เงินที่ได้มาจากรัฐก็หมดเกลี้ยง คุณพ่อจากเดิมที่เคยเป็นเถ้าแก่ร้านกาแฟก็ต้องออกไปรับจ้างหางานทำ ตัวผมเองก็ต้องออกทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ก็ไปช่วยขายเสื้อผ้าตามห้างสรรพสินค้าอยู่พักหนึ่ง”
แต่แล้วชีวิตก็พลิกผันไปอีก เมื่อต้องมาเป็นโต้ดรับแทงม้าแข่ง เหตุก็เพราะว่า มารู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งที่เห็นเขามีเงินใช้ดีมาก ซึ่งเพื่อนคนนั้นก็บอกว่า เขาทำโต้ดแทงม้าแข่ง จึงกระโดดเข้ามาเข้ามาทำโต้ดรับแทงม้าแข่งนี้ด้วย ซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น ก็เป็นการทำงานหาเลี้ยงตัวเองแล้วก็เรียนไปด้วย ก็ถือว่าได้ช่วยแบ่งเบาภาระคุณพ่อลงไปด้วย แล้วต่อจากนี้ก็ต้องเตรียมตัวเข้าเกณฑ์ทหารเพราะอายุเข้าใกล้ 18 ปีแล้ว ดร.อลัน กล่าว พร้อมเล่าต่อด้วยว่า
“คุณจำได้ไหมที่ผมบอกว่า ช่วงหนึ่งผมได้ไปขายเสื้อผ้าที่ห้างสรรพสินค้านะ ยี่ห้อนั้นก็คือ แรงเลอน์ (Wrangler) ยี่ห้อดัง เจ้าของร้านชอบผมมาก เพราะผมทำยอดขายได้ดีมาก ทุบสถิติยอดขายสูงสุดทั้งแบบรายวัน รายเดือน ของสาขานั้น เจ้านายของเจ้านายก็อยากรู้จัก ก็เรียกมาคุยบอกว่า ถ้าพ้นทหารแล้วถ้าไม่เรียนต่อ สนใจก็มาหา มาร่วมงานกัน เพราะเขาเห็นว่าเราขายเก่ง ผมก็เล็งเลย พ้นทหาร 2 ปีครึ่ง เมื่อไหร่ก็จะมาทำงานที่นี่ เรียกว่าเล็งไว้เลย”
แต่ก็มีเหตุให้พลิกผันไปอีก เนื่องจากเมื่อสมัยทำโต้ดเถื่อน มีเงินก็ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไว้ ยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นเด็กรถซิ่ง วิ่งเร็วจนตำรวจต้องไล่จับเป็นสิบๆ กิโลฯ ก็ถูกจับ แต่ก็โชคยังดี เพราะก่อนขึ้นศาล 3 วัน ผมไปเกณฑ์เป็นทหารแล้ว ตอนขึ้นศาลใส่ชุดยูนิฟอร์มไป โกนหัวไป ศาลเห็นแล้วไม่รู้จะทำยังไง จับเข้าคุกไม่ได้เพราะเป็นทหารต้องขึ้นศาลทหาร ก็เลยไม่ถูกจำคุก แต่เสียค่าปรับ 800 เหรียญ ก็ประมาณ 2 หมื่นบาทสมัยนั้น ก็ 40 กว่าปีมาแล้วนะ แล้วก็ถูกยึดใบขับขี่คือยกเลิกไปเลย คือต้องไปสอบเอาใหม่
อย่างไรก็ตาม การจะกลับเข้าไปทำงานขายเสื้อผ้าแรงเลอร์ต้องมียานพาหนะก็คือมอเตอร์ไซค์เป็นสำคัญ เพราะจะได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานในการตรวจสอบสาขาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จิตใจก็เลยจดจ่ออยู่กับการให้ได้มาซึ่งใบขับขี่ ก็พยายามเข้าสอบเพื่อให้ได้มา แต่ก็ยากเย็น สอบไม่ผ่านสักที ซึ่งอาจเป็นเพราะประวัติเก่า จน 8-9 เดือนเข้าแล้วก็อไปทำไมยังไม่สามารถสอบใด้ จนเพื่อนสาวที่สนิทคนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามจะรอไปทำไม ก็ทำงานไปก่อนก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง รอไปทำไม
“ตอนนั้นผมมีแฟนแล้ว เธอทำอยู่ที่บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate Technology) ที่มาตั้งโรงงานผลิตสินค้าจำพวกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิส อยู่ที่สิงคโปร์ขณะนั้น ก็แนะนำให้มาสมัครหางานทำไปก่อน ผมก็มาสมัครโดยใช้วุฒิ ประถม 6 เพราะคิดว่าแค่จะทำงานชั่วคราว (ขณะนั้นเรียนจบ มัธยม 6 เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทนาลัยแล้ว) เข้าทำงานแผนกสโตร์ (Store) ทำได้ไม่นานสักพักก็ได้รับการโปรโมตขึ้นมาเรื่อยๆ ผมก็ว่าผมโชคดี คือตอนที่เป็นทหารเป็น สโตร์ ไอซี รับผิดชอบดูเรื่องกระสุนกับระเบิด คือต้องทำสต็อก ต้องคีย์คอมพิวเตอร์ทำให้เรารู้เรื่องเกี่ยวกับสโตร์ พอได้เข้าไปทำ ซูเปอร์ไวเซอร์บอก”
“เฮ้ยทำไม่เด็กคนนี้ทำสต๊อกได้ ก็จับตามอง สองอาทิตย์เรียกเราไปคุยเลยผ่าน probation (ระยะทดลองงาน) จากปกติต้อง 3 เดือน อีก 2 อาทิตย์ต่อมาจะให้เป็น Store IC เลื่อนตำแหน่งจนดูเหมือนคนอื่นๆ จะเริ่มหมั่นไส้เอาแล้ว คิดว่าเราเป็นเด็กเส้น ทั้งที่จริงเราแค่หวังมาทำงานชั่วคราวเท่านั้นนั้น ไม่หยุดแค่นั้น อีก 2 เดือน โปรโมตอีก คราวนี้ให้ไปรับผิดชอยฃบ สโตร์ คอมพิวเตอร์ คือเป็นพวกชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูงขึ้น พวกฮาร์ดดีส ทุกอย่างที่เกี่ยวกับ IC, พวก board แพงๆ”
ดร.อลัน เล่าต่ออีกว่า ด้วยความขยัน ตรงไปตรงมาในหน้าที่ที่รับผิดชอบ หัวหน้าเห็นผลงาน เสนอให้ย้ายเข้ามาทำงานที่แผนก Planer ที่ได้ทั้งเงินเดือนที่มากกว่า มีสวัสดิการที่ดีกว่า เงินเดือนมากถึง 2 เท่า ตอนนั้นก็ 3-4 พันกว่าเหรียญ บวกโอทีอีก เรียกว่าเงินเดือนเยอะ เราก็เลยไป รวมแล้วใน 1 ปี ได้โปรโมต 3-4 ครั้ง ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ใบขับขี่ แต่ก็ล้มเลิกที่จะไปขายเสื้อผ้ากับเจ้านายเก่าเดิมแล้ว และการที่ได้ย้ายมาอยู่ที่แผนก Planer และเกี่ยวข้องกับแผนกจัดซื้อนี่เองก็ได้รู้เริ่มจักกับพวกซับพลายเออร์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้เองก็ได้เริ่มติดต่อกับประเทศไทยบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม จากแผนกนี้เองที่ทำให้ได้มารู้จักกับเจ้าของบริษัทแห่งหนึ่งที่ผลิตพวกอินซูเลเตอร์ ประเภทเดียวกับที่ foamtec international ผลิตขณะนั้นเช่นกัน แต่ขณะนั้นยังไม่ได้มาอยู่ที่ foamtec international และก็ต้องถือว่าเป็นคู่แข่งขันกันด้วย มาชวนให้ไปร่วมงาน ที่ ดร.อลัน ยอมรับว่า ตัวเองชอบงานขายมาก เพราะเคยทำได้ดีมาแล้วเมื่อครั้งขาย แรงเลอร์ ที่สถิติได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง จึงตัดสินใจออกจากซีเกตและเข้าร่วมงานด้านการขายให้กับบริษัทแห่งนี้ (ขอสงวนนาม) ในเวลาต่อมา
ดร.อลัน เล่าว่า ที่บริษัทแห่งนี้ กล่าวได้ว่า ตัวเขาทุ่มทั้งแรงกายแรงใจเป็นอย่างมากที่คาดหวังจะให้เจริญเติบโตขึ้น โดยจำได้ว่าเมื่อแรกก่อนเข้ามีรายได้แค่ปีละเพียง 300 ล้านเหรียญเอง โดยเมื่อเข้ามาช่วยขายยอดขายทะลุเป้าตลอด แต่ก็มีการปรับเป้าตลอดเช่นกันทำให้รู้สึกหงุดหงิด ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 27-28 ปี ก็มีรายได้ดีแล้วประมาณ 15,000 -บอกว่า 16,000 เหรียญสิงคโปร์ ก็ประมาณ 4-5 แสนบาทขณะนั้น แต่จริงๆ แล้วน่าจะดีกว่านี้ถ้าบริษัทมีความจริงใจตามที่ตกลงกันไว้
“จนถึงเขาเข้าตลาดหุ้น ก่อนเขาเข้าตลาดหุ้น เวลาลูกค้าเร่งด่วน เราไปคุยกับเด็กๆ เฮ้ย... บริษัเข้าตลาดหุ้นแล้วนะ ทุกคนต้องช่วยกันนะ เราไม่ใช่เจ้าของแต่เราก็ไปช่วยพูดแบบนั้น ปีใหม่ ตรุษจีน พนักงานมาเลย์กลับบ้านกันไม่มีใครทำงาน ผมพาแม่บ้านพร้อมลูกคนแรกไปช่วยทำงานแพ็กกิ้ง ผมขับรถ 6 ล้อไปส่งของ ทำขนาดนี้แล้วเราได้อะไร ก็คิดว่าทำให้เข้ารวยทำไม ทำเองดีกว่า พรรคพวก 13 คน ก็รวมตัวกันออกมาตั้งใจจะมาทำเอง”
ดร.อลัน บอกว่า และก็พอดีกับฝรั่งที่เป็นคู่แข่งได้ข้ามาคุยชักชวนให้มาร่วมกันทำงาน พูดดีมาก บอกจะไปเสี่ยงทำไม ไม่ต้องลงทุนเอง ใช้ทุนของพวกอเมริกัน ได้ทั้งหุ้น แถมได้งินเดือนด้วย ก็เริ่มตกลงเข้ามาทำ Foamtec International นับแต่นั้นมา แต่ปัจจุบันเพื่อนๆ ทั้ง 13 คน ยังคงเหลือร่วมงานมาจนถึงขณะนี้เพียง 4 คน อย่างไรก็ตาม Foamtec International ที่สิงคโปร์และที่ประเทศไทยก่อตั้งขึ้นพร้อมกัน เพราะขณะนั้น นายทุนอเมริกันต้องการขยายตลาดมาเอเชีย และเซาะหาประเทศที่น่าสนใจ โดยที่ประเทศไทยก็ได้รับคำแนะนำจากวุฒิสมาชิกอเมริกันท่านหนึ่งให้คำแนะนำมาพูดคุยกับ “คุณกร ทัพพะรังสี” ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น เป็นผู้หว่านล้อมชักชวน เขาก็เลยตัดสินใจมาลงหลักปักฐานในประเทศไทยอีกแห่งในที่สุด
สำหรับการที่พูดคุยภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่วราวกับคนไทยเองนั้น ดร.อลัน เล่าว่า Foamtec International เข้ามาเมืองไทยเมื่อช่วงต้มยำกุ้ง (2540) ดร.อลัน ก็เข้ามาบุกเบิกงาน โดยต้องออกเดินทางหาลูกค้าทุกวันพร้อมกับพนักงานคนไทย 2 คน ที่ต้องมารับที่บริษัทแถวพัฒนาการ 7 โมงเช้า กลับ 2 ทุ่ม ทุกวัน แล้วทุกวันต้องเดินทาง 500-600 กิโลเมตร ไปอยุธยาบ้าง ระยองบ้าง อีสเทิร์นซีบอร์ดบ้าง ฯลฯ เราก็กลัวเขาหลับใน ก็เลยชวนคุย ก็ไม่รู้จะคุยอะไรมากมาย ก็เลยบอกเขาอยากเรียนภาษาไทย ก็เรียนในรถนี่แหละก็มีการตั้งวินัยว่า อะไรที่ต้องเรียนวันนี้คือพรุ่งนี้ต้องใช้ เรียนวรรณคดี ก็เรียนก็ถามเขาว่าถูกไหม เขาก็ทำให้เราจำง่ายขึ้น พอกลับไปที่โรงแรมที่พักก็เปิดทีวีฟังไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เดือน ก็ออกไปคนเดียวได้แล้ว ปัจจุบันก็ 27 ปีแล้ว ก็เดินทางไปกลับสิงคโปร์-ไทย ตลอด แต่ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่ประเทศไทย แล้วก็ยังมีไปประเทศอื่นๆ ด้วย
ส่วนการเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าสิงคโปร์-ไทย ได้นั้น ดร.อลัน บอกว่า เมื่อเข้ามาประเทศไทยก็ได้รับการบอกกล่าวว่า ที่นี่มีหอการค้าสิงคโปร์-ไทย ด้วย ก็เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก โดยแรกเริ่มก็ไม่ได้คิดหรือตั้งใจมาก่อนที่จะต้องเข้ามานั่งเป็นประธานแต่อย่างใด แต่เมื่อเป็นสมาชิกแล้วก็ไปที่หอการค้าบ่อยหน่อย จนประธานกิตติมศักดิ์ชวนมาช่วยงาน ก็คุยกันบ่อยขึ้นอาทิตย์หนึ่งก็ 4-5 ครั้ง ก็ได้ช่วยงานมาตลอด จนเมื่อต้องไปตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ที่เซินเจิ้นประเทศจีน ก็ขอลาออก แต่เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ก็ได้รับการร้องขอให้กลับมาช่วยงานที่หอการค้าสิงคโปร์-ไทยอีก ก็กลับมาจนปัจจุบันก็เป็นประธานหอการค้าสิงคโปร์-ไทย สมัยที่ 3
ต่อข้อถามถึงกาค้าสิงคโปร์กับไทยเป็อย่างไรบ้าง ดร.อลัน บอกว่า ก็เป็นปกติดี โดยสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนติดระดับท็อป 3 ส่วนมากก็จะไปทางไฟแนนซ์ ไปทางอสังหาริมทรัพย์ และก็เป็นบริษทใหญ่ๆ มากกว่า บริษัทเล็กก็จะน้อยกว่า ไม่เหมือนไต้หวันเยอะมาก จีนก็เยอะมาก ส่วนสิงคโปร์ก็จะเป็นบริษัทยักษ์ๆ ที่จะมา ปัจจุบันหอการค้าสิงคโปร์-ไทย มีสมาชิกอยู่ประมาณ 200 กว่า ซึ่งการเข้ามาเป็นสมาชิกไม่จำกัดจะเป็นใครก็ได้หลากหลายที่อยากทำการค้ากับสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันก็มีทั้งนอรเวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ ออสเตรเลีย ฮอลแลนด์ เป็นต้น
การได้ร่วมพูดคุยกับ ดร.อลัน ลิม ครั้งนี้ จึงขอกล่าวว่า ด้วยบุคลิกภาพโอบอ้อมอารี เป็นคนมีอัธญาศัย พูดจานุ่มนวล เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์มากมาย ทั้งในด้านการค้าการขายการลงทุนอย่างหลากลายในทั่วภูมิภาค จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสิงคโปร์และไทยจะราบรื่นไปได้อย่างมั่นคงสถาวร และน่าจะช่วยให้สมาชิกหลักสูตรผู้บริหารไทย-จีน รุ่นที่ 1 ของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน บรรลุเป้าหมายการสร้างเครือข่ายเชื่อมสัมพันธ์การค้าไทย-จีน ได้เป็นอย่างดี