สรรพากรดึงเทคโนโลยีเกาะติดผู้ค้าออนไลน์เลี่ยงภาษี พร้อมประสานข้อมูลศูนย์ปราบปรามสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมายสรรพสามิตร่วมตรวจสอบ เชื่อจะพบผู้ค้าเลี่ยงภาษีอีกมาก ขณะที่ ซักซ้อมแนวเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีกับสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ตนได้เรียกประชุมสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีในระยะต่อไป โดยได้เน้นย้ำในเรื่องการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะฐานข้อมูลของผู้มีรายได้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อการประเมินภาระภาษี ดังนั้น เราจึงให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาช่วยจัดเก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันระบบฐานข้อมูลที่เราเก็บนั้น ถือว่า พัฒนาไปมาก แต่ยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม
“ต่อไป การทำงานจะเป็นแบบเก่าไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งผมได้ประชุมสรรพากรทั่วประเทศในเรื่องดาต้าเบส หรือฐานข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการนำไปประเมินภาระภาษี ปัจจุบันเราทำดีแล้ว แต่ยังต้องทำเพิ่มเติม โดยคะแนนที่ให้สำหรับฐานข้อมูลนั้น จากเต็ม 10 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7 ดังนั้นเราต้องพัฒนาเพื่อเป็นเครื่องมือขยายฐานภาษีและบริหารความเสี่ยง”
นายลวรณ ยังกล่าวด้วยว่า ด้วยระบบฐานข้อมูลที่ดีและเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น จะทำให้กรมฯสามารถเข้าไปประเมินภาระภาษีแก่กลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ในระยะต่อไป เราจะเห็นยอดผู้เสียภาษีจากกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ได้มากขึ้น
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กรมฯได้เรียกภาษีผู้ค้าออนไลน์ย้อนหลังถึง 5 ปีนั้น เขากล่าวว่า ตามประมวลรัษฎากรได้ให้อำนาจกรมฯเข้าดำเนินการจัดเก็บภาษีย้อนหลังได้จำนวน 5 ปี หากรายใดทำธุรกิจมา 7-8 ปีแล้ว เราก็เข้าไปเก็บย้อนหลังได้แค่ 5 ปีเท่านั้น ส่วนรายใดทำธุรกิจมาแค่ 2 ปี เราก็เก็บภาษีได้แค่ระยะเวลาที่ทำธุรกิจมาเท่านั้น
“คำว่าเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีนั้น หมายถึง ถ้าเราเจอคนหนึ่งไม่เสียภาษีมาเลย จะถูกย้อนหลังได้แค่ 5 ปีซึ่งเขาอาจจะทำธุรกิจมาแล้ว 7-8 ปี แต่กฎหมายให้อำนาจเราแค่ 5 ปี เราถอยหลังได้แค่นั้น แต่ถ้าเขาทำแค่ 2 ปี เราก็ย้อนหลังเขาได้แค่ 2 ปี ผมคิดว่า ด้วยระบบฐานข้อมูลที่ดีและเทคโนโลยีที่เร็วขึ้น จะช่วยในการตรวจสอบผู้ค้าออนไลน์ได้มากขึ้น ก็จะมีความคืบหน้าว่า ใครที่หลีกเลี่ยงภาษีบ้าง”
ทั้งนี้ สำหรับผู้ค้าออนไลน์ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปัจจุบันกรมฯได้แก้ไขให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมสามารถทำที่อยู่ดังกล่าวมาจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีได้จากเดิมที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ซึ่งก็จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่ต้องการเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง
“ขณะนี้ ธุรกิจค้าออนไลน์มีแนวโน้มโตขึ้นเยอะมาก เพราะทุกคนก็หนีไปค้าออนไลน์กันหมด เราก็มีทีมที่ดูเรื่องนี้คอยติดตามใกล้ชิด และมีเครื่องมือพิเศษให้ ขณะเดียวกัน เราก็ทำงานกับกรมสรรพสามิตทำเรื่องการปราบปรามสินค้าออนไลน์ผิดกฎหมายด้วย”
นายลวรณ ยังกล่าวด้วยว่า กรมฯยืนยันว่า ไม่มีนโยบายที่จะให้เจ้าหน้าที่สรรรพากรติดต่อผู้เสียภาษีทางไลน์หรือช่องทางออนไลน์อื่นๆอย่างแน่นอน ดังนั้น กรณีที่มีบุคคลใดใช้ชื่อกรมฯไปอ้างอิงและติดต่อให้ไปเสียภาษี จึงไม่เป็นความจริง โดยกรมฯได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ทำการประเมินภาระภาษีกับผู้เสียภาษีได้ที่สรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศเท่านั้น