วันที่ 26 ธันวาคม 2565 เวลา 09.30 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยมี นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งผู้บริหารสถานพยาบาลทั้ง 10 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลและเข้าถึงการให้บริการรักษาทางการแพทย์ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเป็นหน่วยงานหลักที่ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนโดยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์พร้อมการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ในวันนี้ ตนรู้สึกยินดีที่ได้รับมอบหมายจากท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาเป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานการทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์ ระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับสถานพยาบาลทั้ง 10 แห่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ประกันตน ด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค “นับเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นหนึ่งที่รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม มอบให้ผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการกับโรงพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ผมมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการทำบันทึกข้อตกลงในวันนี้ สามารถทำให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาการรอคอย ลดภาวะแทรกซ้อน ไม่ให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้ง ช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้น ส่งผลให้ผู้ประกันตน สามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็ว และดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงนับได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกันตนอย่างแท้จริง”
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึง การทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานประกันสังคม กับ สถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ในวันนี้ มีสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมจำนวน 10 แห่ง ร่วมบันทึกข้อตกลงฯ ให้บริการรักษาให้กับผู้ประกันตนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีดังนี้
สถานพยาบาลให้บริการรักษาด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล จังหวัดนนทบุรี, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ จังหวัดสมุทรปราการ
สถานพยาบาลให้บริการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สถาบันประสาทวิทยา กรุงเทพฯ
สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ
สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลบางปะกอก 8 กรุงเทพฯ และโรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด สำหรับระยะเวลาดำเนินการเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกันตนมาใช้บริการ ทั้งสิ้นจำนวน 7,500 คน สำนักงานประกันสังคม ยังคงมุ่งมั่น และทุ่มเทการทำงาน โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของรัฐบาล และ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ให้ความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ด้านการให้บริการทางการแพทย์ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยบูรณาการงานด้านบริการทางการแพทย์อย่างเหมาะสม เท่าเทียม มีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน