ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบกับกลุ่มชาวบ้านเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังกวัดมหาสารคาม กำลังขุดหอยขมตามทุ่งนาที่ซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นดิน โดยชาวบ้านจะใช้เสียมคู่ใจขุดเซาะไปตามพื้นดิน โดยเลือกขุดใกล้ๆกับคันคูที่พื้นที่แห้งใหม่ๆ เพราะดินจะยังชุ่มชื้นขุดง่ายและมักจะมีหอยขมอาศัยอยู่ใต้พื้นดินเป็นกลุ่ม ซึ่งใช้เวลาขุดไม่นานก็ได้หอยขมตามต้องการหรือเพียงพอสำหรับนำกลับไปรับประทาน ส่วนหนึ่งก็นำไปจำหน่ายสร้างรายได้เสริม อย่างเช่น นายสงคราม ไปบน ชาวบ้านเกิ้ง ต. เกิ้ง อ. เมือง จังหวัดมหาสารคาม ผู้ที่กำลังขุดหอยบอกกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้ตนเองตั้งใจออกมาหาขุดหอยขมโดยเฉพาะ พร้อมกับได้ชักชวนเพื่อนบ้านชาวบ้านออกมาหาขุดหอยด้วย ส่วนวิธีการสังเกตว่าหอยที่ขุดขึ้นมาจากดินอันไหนคือหอยขมอันไหนคือก้อนหิน ก็จะใช้ประสบการณ์ฟังเสียงเปลือกหอยที่กระทบหรือเสียดสีกับเสียม จากนั้นก็จะใช้มือคลำและแกะเอาเศษดินออกหอย ก่อนเก็บลงใส่ตะกร้าเก็บผสมรวมกันจนได้จำนานมาก จากนั้นก็จะนำไปคัดเลือกเอาเฉพาะหอยขมที่ตัวโตไว้รับประทาน และจำหน่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน ส่วนหอยตัวเล็กก็นำไปปล่อยเลี้ยงในสระน้ำ โดยเลี้ยงไว้ให้ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตตามธรรมชาติ และค่อยทยอยจับขึ้นมารับประทานในช่วงที่หอยเริ่มหายากและเป็นการอนุรักษ์พันธุ์หอยขมด้วย
นายสงคราม ไปบน บอกอีกว่า สำหรับการหาหอยขมด้วยวิธี ขุดหาตามพื้นดินจะหาได้เฉพาะหลังฤดูทำนาเกี่ยวข้าวเท่านั้น อีกอย่างพื้นที่ดังกล่าวในปีนี้ประสบกับปัญหาน้ำท่วม ทำให้มีหอยขมพัดมาตามกระแสน้ำและเจริญเติบโตขยายพันธุ์จำนวนมาก พอช่วงน้ำลดลดหอยขมเหล่านั้น ก็จะลงไปซ่อนตัวอาศัยในพื้นดิน ดังนั้นหากอยากรับประทานหอยขมที่รสชาติอร่อย ตัวอ้วนๆ ก็ต้องใช้แรงในการขุดเพราะหอยขมที่ขุดจากพื้นดิน จะรสชาติดีกว่าหอยที่อาศัยในน้ำ แถมเก็บไว้ได้นานเกือบปีไม่เน่าเสีย
ประดิษฐ์ อรรคฮาตศรี ข่าวมหาสารคาม