การเคหะแห่งชาติ จับมือ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยกระดับการพัฒนา “ที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ร่วม “ลดภาวะโลกร้อน” พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง
การเคหะแห่งชาติมีภารกิจสำคัญในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และครัวเรือนเปราะบาง ภายใต้ วิสัยทัศน์และพันธกิจ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” โดยหนึ่งในโครงการสำคัญที่ถือเป็นความสำเร็จ คือ การได้ทุนสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (ม.ส.ท.) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางการพัฒนาประเทศให้เกิดเป็นรูปธรรม
ล่าสุดการเคหะแห่งชาติได้ดำเนินโครงการเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และลงนามความร่วมมือกับ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมี นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การ MOU ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติ และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้มีการพัฒนาและผลิตองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ การวิจัย การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน รวมถึงการประชุมทางวิชาการที่สอดคล้องกับทิศทางด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ โดยมีเป้าหมายร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ที่สำคัญเพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและครัวเรือนเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเคหะแห่งชาติ
สำหรับแนวทางการพัฒนาโครงการส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะให้ความสำคัญในทุกกระบวนการตั้งแต่การออกแบบ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ลงลึกไปถึงกระบวนการขนส่งวัสดุ ฯลฯ ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการยกระดับจาก โครงการบ้านเบอร์ 5 ซึ่งการเคหะแห่งชาติได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยมุ่งเน้นเรื่องการออกแบบ การวางผังบ้าน การดูทิศทางลมและแสงอาทิตย์ ฯลฯ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้า และประหยัดพลังงาน
สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือในครั้งนี้ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยจะเข้ามาให้คำแนะนำการเคหะแห่งชาติ สำหรับโครงการใหม่ๆ ที่จะเปิดตัว ตั้งแต่วัสดุที่ใช้ ตลอดจนกระบวนการก่อสร้างต่างๆ ขณะที่โครงการเดิมต้องนำมาพิจารณาว่าสามารถเข้าสู่กระบวนการดังกล่าวได้หรือไม่ ปัจจุบันมีโครงการนำร่องที่จะเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ซึ่งรวมโครงการใหม่และโครงการเดิมที่ต่อยอดจากโครงการบ้านเบอร์ 5 ประมาณ 20-30%
“วันนี้การเคหะแห่งชาติ ได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งในการเป็นหน่วยงานที่พัฒนาที่อยู่อาศัยและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น การได้ทุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก นั่นหมายความว่าทุกกระบวนการในการพัฒนาที่อยู่อาศัยจะต้องประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะมาเป็นพี่เลี้ยงในการให้องค์ความรู้ด้านต่างๆ แก่การเคหะแห่งชาติ ในการนำโครงการนี้ไปสู่ความสำเร็จ
เพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือความยั่งยืนของผู้ที่พักอาศัยอยู่ในโครงการของการเคหะแห่งชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และครัวเรือนเปราะบาง ทำให้พวกเขามีโอกาสได้รับสิ่งดีๆ จากสังคมและภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรัฐบาลและประเทศไปสู่เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกร้อนในระยะยาว” นายทวีพงษ์ กล่าว
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การจะทำให้ที่อยู่อาศัยสามารถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้นั้น ต้องคิดตั้งแต่การออกแบบตัวบ้าน การเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง การใช้พลังงานทางเลือกและอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน รวมถึงการมีพื้นที่สีเขียวที่ช่วยให้เกิดความร่มเย็นและร่มรื่น และยังต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัย ทั้งการเงิน การจัดการขยะและของเสียที่เกิดขึ้น
สำหรับความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และการเคหะแห่งชาติในครั้งนี้ จะมุ่งการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับการพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยเป็นการมองภาพรวมทั้งกระบวนการ จากเดิมโครงการที่การเคหะแห่งชาติพัฒนาขึ้นอาจมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องพลังงาน ซึ่งทางสถาบันฯ จะเข้ามาเสริมในเรื่องวัสดุที่ใช้ การลดความร้อนในอาคาร การวางผัง พื้นที่สีเขียว ฯลฯ โดยพัฒนากระบวนการต่างๆ ขึ้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง
“การส่งเสริมที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถช่วยทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคที่อยู่อาศัย (mitigation) และด้านการปรับตัวให้อยู่ได้อย่างปกติในภาวะโลกร้อน (adaptation) นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย ซึ่งต้องคิดเป็นองค์รวม ใช้บทเรียนและประสบการณ์ที่ผ่านมา อาศัยความรู้ทางวิชาการและการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้าย