ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันร้อยละ 55 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ยังรับน้ำได้อีกกว่า 33,200 ล้านลูกบาศก์เมตร สภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังต่ำกว่าตลิ่ง
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นในระยะนี้ โดยปริมาณฝนสูงสุดวัดได้วานนี้(27 มิ.ย. 60) 3 อันดับ ได้แก่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 63.4 มิลลิเมตร สนามบินภูเก็ต จ.ภูเก็ต 62.7 มิลลิเมตร และอ.เมือง จ.ระนอง 61.9 มิลลิเมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ส่วนใหญ่ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ได้เข้าสู่ภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้มีฝนตกน้อยลง แม่น้ำสายหลักต่างๆ จึงสามารถรองรับน้ำได้อย่างปลอดภัย โดยในวันนี้ (28 มิ.ย. 60) มีปริมาณน้ำไหลผ่านในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 497 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 7.48 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 155 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ปัจจุบัน(28 มิ.ย. 60) มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,939 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 มีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 9,573 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอใช้ตลอดฤดูฝนนี้ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก 4 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา และเขื่อนหนองปลาไหล กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรองรับฝนที่จะตกลงมาอีก
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก มีอยู่รวมกันประมาณ 11,364 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 รวม 3,354 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 4,668 ล้านลูกบาศก์เมตร (ปี 2559 มีน้ำใช้การ 1,314 ล้านลูกบาศก์เมตร) 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 13,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าน้ำท่าตามธรรมชาติในลุ่มน้ำเจ้าพระยาลดต่ำลงมาก ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันจากเดิมวันละ 23.89 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 30.45 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 60 ไปจนถึงวันที่ 2 ก.ค. 60 เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงไป