“ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ถก บอร์ดความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ รับทราบผลการปฏิบัติช่วงเอเปก จัดการภัยคุกคามได้หมด เห็นชอบ แนวทางป้องกันเว็บไซต์ภาครัฐ หลัง โดนเว็บพนันออนไลน์ โฆษณาแฝง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 1/2566 ที่ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมได้รับทราบศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ได้จัดทำคู่มือปฎิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์(Website Security Guideline) เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ ให้มีความมั่นคงปลอดภัย แก่หน่วยงานของรัฐเรียบร้อยแล้ว และรับทราบ รายงานผลการปฏิบัติงานเพื่อรองรับการประชุมเอเปกปี 65 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีผลการปฎิบัติงานที่สำคัญรวม 30 เหตุการณ์ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เนื่องจากภัยคุกคามถูกจำกัดพื้นที่จากมาตรการป้องกันของฝ่ายเรา ทำให้สถานการณ์เป็นไปในแนวทางที่ดี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ สืบเนื่องจากที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐถูกโจมตีด้วยการแฝง เว็บพนันออนไลน์ โดยอาศัยช่องโหว่จากการพัฒนาเว็บไซต์ และจุดอ่อนของระบบปฎิบัติการ รวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย ที่ให้บริการฝากเว็บไซต์ เป็นจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานภาครัฐของไทย โดยมีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานออกเป็น ระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมเห็นชอบรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามตั้งแต่ 1ต.ค.64-30ก.ย.65 รวมทั้งสิ้น 551 เหตุการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแฮ็กเว็บไซต์ จำนวน367 เหตุการณ์ และจะมีการรายงานให้ ครม.ทราบ ต่อไป
รวมทั้งได้เห็นชอบรายงานประจำปี65 ของสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งมีการพัฒนาไปมาก ทั้งด้านการขับเคลื่อนนโยบาย ความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆทั้งในและต่างประเทศ การเฝ้าระวัง การรับมือภัยคุกคาม ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่ประชาชน โดยมีผลการประเมินร้อยละ 91.83 ซึ่งจัดอยู่ในระดับดีมาก
พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวชื่นชม สกมช. ในความก้าวหน้า และความสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงการประชุมผู้นำเอเปก ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นับเป็นภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย พร้อมกำชับให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และผู้เกี่ยวข้องเร่งผลักดันนโยบายและแผนปฏิบัติการปี 65-70 ที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้ว รวมถึงการบังคับใช้แก่หน่วยงานภาครัฐ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เว็บไซต์ของภาครัฐ มีความมั่นคงปลอดภัยเป็นที่น่าเชื่อถือของภาคเอกชน ประชาชน และต่างประเทศ ด้วย พร้อมเตือนภัย สร้างความตระหนักรู้ประชาชนกับความเสี่ยงถูกโจมตีไซเบอร์