นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เปิดคลินิกหมอครอบครัวหนองกะจะ เครือข่ายโรงพยาบาลปากช่องนานา พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยมี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้การต้อนรับ
นายอนุทิน กล่าวว่า คลินิกหมอครอบครัว เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลความเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ด้วยการบริการแบบองค์รวม ดูแลครอบคลุมทุกมิติสุขภาพ เชื่อมโยงกับบริการทุติยภูมิและตติยภูมิด้วยระบบส่งต่อ ระบบให้คำปรึกษา รักษาพยาบาล ระบบยาและเวชภัณฑ์ ภายใต้มาตรฐานเดียวกันกับโรงพยาบาล ช่วยลดความแออัดและ
ลดการรอคอยที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยแนวคิด บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในนโยบาย 3 หมอ ซึ่งขณะนี้ ทั่วประเทศ มีคลินิกหมอครอบครัว 3,191 ทีม เฉพาะเขตสุขภาพที่ 9 มี 396 ทีม ในจำนวนนี้เป็นของจังหวัดนครราชสีมา มากที่สุด คือ 148 ทีม ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังคงขยายเครือข่ายคลินิกหมอครอบครัวอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายให้มีคลินิกหมอครอบครัว 6,790 ทีม ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในปี 2573
สำหรับคลินิกหมอครอบครัวหนองกะจะ เป็น 1 ใน 4 คลินิกหมอครอบครัว เครือข่ายโรงพยาบาลปากช่องนานา รับผิดชอบประชาชน 12,275 คน ใน 5 ชุมชน ดูแลทั้งมิติด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสภาพ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการในรูปแบบ Smart digital ทั้งการจัดระบบคิว ระบบ Telemedicine และยังมีระบบ Digital Signage ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การให้บริการและความรู้ด้านสุขภาพที่ส่งตรงจากโรงพยาบาลปากช่องนานาถึงผู้รับบริการที่คลินิกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นที่ผ่านมา คลินิกให้บริการมาแล้ว 152,275 ครั้ง ผู้ป่วยและผู้รับบริการ 14,125 คน เป็นผู้ป่วยติดเตียง 27 คน กลุ่มเปราะบาง 52 คน ผู้ป่วยระยะสุดท้าย 7 คน ผู้ป่วยโรคมะเร็ง 32 คน และผู้พิการ 97 คน
นอกจากนี้ ยังได้เปิดศูนย์เคมีบำบัด ที่โรงพยาบาลปากช่องนานา ซึ่งสามารถผสมยาเคมีได้เอง โดยมีโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาเป็นแม่ข่ายหลักในการพัฒนาศักยภาพการให้เคมีบำบัดแก่โรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถลดระยะเวลาให้เคมีบำบัดได้ภายใน 6 สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นและรวดเร็วขึ้น ช่วยลดการส่งต่อและลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาได้อย่างดี โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจำนวน 73 ราย รวม 385 ครั้ง ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากขึ้น และได้วางแผนการให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นเพิ่มเติมต่อไป