รมช.สุนทร เดินหน้ามอบนโยบายกรมพัฒนาที่ดิน น้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาเป็นแนวทาง ทั้งเน้นการใช้เทคโนโลยีพัฒนางานวิจัยในการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศทางการเกษตร
นายสุนทร ปานแสงทองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานของกรมพัฒนาที่ดิน โดยมี นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินเข้าร่วม ว่า กรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดการทรัพยากรดินที่เป็นพื้นฐานสำคัญ มีภารกิจในการสำรวจ วิเคราะห์จำแนกดิน การวางแผนการใช้ที่ดิน ทั้งพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการดินที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่พัฒนาข้อมูล เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินรวมทั้งถ่ายทอดเทคโนโลยีอนุรักษ์ดินและน้ำ และปรับปรุงบำรุงดินเพื่อรักษาความสมดุล ความเสื่อมโทรมของที่ดินและนิเวศเกษตร
“สิ่งที่สำคัญในการมามอบนโยบายในวันนี้คือ อยากให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกท่าน มีความรักและภาคภูมิใจในองค์กร ร่วมกันบูรณาการการทำงานเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น และขอให้มีความสุขในการทำงาน เคารพในองค์กร และหน้าที่ของตัวเอง โดยปฏิบัติงานให้เต็มความสามารถ เต็มศักยภาพ ตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนงานที่อยากเร่งรัดคือการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การอนุรักษ์ดินและน้ำ รวมทั้งการขยายจำนวนหมอดินอาสา และการให้ค่าตอบแทนหมอดินอาสาอย่างเหมาะสมด้วย” รมช.สุนทร กล่าว
รมช.สุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับด้านตลาดนำการผลิต การใช้เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนในการผลิตภาคการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาและการบูรณการการทำงานกับทุกภาคส่วน โดยกรมพัฒนาที่ดินมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวภายใต้ประเด็นสำคัญ ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ บริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม ส่งเสริมศูนย์เรียนรู้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน พัฒนาการวิจัย และการพัฒนาฐานข้อมูล Big Data ทั้งนี้จึงได้มีนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงาน 11 ประการดังนี้ 1. งานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้น้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มากำหนดเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน โดยเน้นให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายได้รับประโยชน์จากการพัฒนา และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรดินและน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน 2. การอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นภารกิจสำคัญในการช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินในพื้นที่เกษตรกรและพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย 3. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก แหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นมาตรการเพิ่มความมั่นคงของน้ำในภาคการเกษตร มีความสำคัญต่อการบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง รวมทั้งเป็นพื้นฐานของการผลิตในระดับชุมชนในการเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ 4. การพัฒนาหมอดินอาสา ควรเพิ่มจำนวนหมอดินให้สอดคล้องกับจำนวนเกษตรกรในหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน พัฒนาความรู้และให้ค่าตอบแทนหมอดินอาสา เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการร่วมดูแลทรัพยากรดินและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรในระดับพื้นที่ 5. ด้านฐานข้อมูล Agri-Map เป็นภารกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ จะต้องพัฒนาให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ข้อมูลได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และทั่วถึง 6. การลดต้นทุนการผลิต ดำเนินการให้ความรู้ สาธิต และฝึกปฏิบัติแก่เกษตรกร โดยเฉพาะในสถานการณ์ปุ๋ยเคมีราคาแพง ให้ใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมี 7. การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ โดยพัฒนากลุ่มเกษตรกรและเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้น 8. การพัฒนางานวิจัย โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งสามารถนำไปใช้กับเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนการผลิตเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 9. การบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน เพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิน ซึ่งเป็นการพัฒนาในระดับต้นน้ำสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรในระดับกลางน้ำ หรือด้านการตลาดในระดับปลายน้ำ 10. การแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆด้วยความรวดเร็วอย่างถูกต้อง และเป็นธรรม 11. การพัฒนาบุคลากรส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรทั้งด้านองค์ความรู้คุณธรรม และจริยธรรมรวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานทำงานอย่างมีความสุขทำงานด้วยความโปร่งใส และเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้