เมื่อวันที่ 13 มกราคม 25666 เวลา 19.30 นาฬิกา นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เปิดงานเปอรานากันชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก ทะเลสามด้านวัฒนธรรมสามสายครั้งที่ 1 จัดขึ้นวันที่ 13 – 15 มกราคม 2566 ที่บริเวณสามแยกบ้านแหลมสัก หมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ งานดังกล่าวเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลชุมชนโปรมแกรมการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์เด่นดังของชุมชนพื้นเมือง 3 เชื้อชาติ ได้แก่ไทย จีน และมุสลิม ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายแก่ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวแบบชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ให้แก่ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ทั้งเป็นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักเข้ากับการท่องเที่ยวชุมชน ที่นำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นและอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นเสน่ห์ในพื้นที่ต้นแบบ มาต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวชุมชนในเชิงสร้างสรรค์
ภายในงานทุกคนจะได้สัมผัสเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแหลมสัก ที่มีความแตกต่างกันและกันอย่างลงตัว และช๊อปปิ้งอาหารรสเลิศที่หากินได้ยาก ทั้งผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกขึ้นชื่อของชุมชน รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมประจำถิ่นของชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก นอกจากนี้เป็นการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่นล่องเรือหัวโทง พายเรือแคนู ปลูกต้นจาก ปั่นจักรยานชมวิถีชีวิต 3 วัฒนธรรม ชมศาสนสถานวัดมหาธาตุแหลมสัก ศาลเจ้าซกโป้ซีเอี๋ย มัสยิดบ้านหัวแหลม สัมผัสธรรมชาติที่สวยงามของทะเลอันดามัน ดังคำว่าดินแดนทะเลสามด้าน เรียนรู้การทำขนมท้องถิ่นและอาหาร เรียนรู้การเพาะพันธ์กล้วยไม้รองเท้านารี การทำซีเอสอาร์ปลูกกล้วยไม้คืนป่าที่เขาช้างหมอบ และชมกล้วยไม้ป่า และการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพที่ชุมชนตระหนักถึงพิษภัยของสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การท่องเที่ยวชุมชนแหลมสักมีความยั่งยืนสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน
โอกาสนี้นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การฟื้นฟูพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนกระบี่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากจำนวนประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อาหารพื้นบ้าน และสินค้าชุมชนหรือโอท๊อปในพื้นที่ดังกล่าว มีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม การทำงานแบบบูรณาการมีกระบวนการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป การร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ภูมิปัญญา ผ่านการเรียนรู้บนฐานภูมิปัญญาของชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งท่ามกลางวิกฤต พร้อมทั้งฝึกกระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ถ่ายทอดสู่ชุมชนท่องเที่ยวในภาวะวิกฤติในยุคปกติใหม่ เพื่อให้ชุมชนสามารถปรับตัวมีฐานคิดในเชิงบวก ในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยการท่องเที่ยว ที่สร้างสรรค์บนพื้นฐานการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอดสู่นวัตกรรม ภายใต้ฐานภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มี การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนท่องเที่ยวสร้างสรรค์ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท่องเที่ยวเชิงเครือข่าย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
กระบี่