คมนาคมเบรกขึ้นค่าเซอร์ชาร์จแท็กซี่สนามบิน สั่ง ทอท.ศึกษาแนวทางเพื่อเพิ่มรอบวิ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการแทน และยังไม่พิจารณาขึ้นค่ามิเตอร์รอบ 2 ในตอนนี้ รอพิจารณาอีก 3 เดือน คาดได้ข้อสรุปสิ้นปีนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพบริการรถแท็กซี่ที่ให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองว่า ได้พิจารณาแนวทางการปรับเพิ่มเที่ยววิ่งให้บริการของแท็กซี่สนามบิน ซึ่งจากการศึกษาพบว่ารถแท็กซี่จะใช้เวลารอให้บริการ 80 นาทีต่อเที่ยว ทำให้ปัจจุบันสามารถให้บริการประมาณ 4 เที่ยว/วัน ดังนั้น หากสามารถลดเวลาในการรอลงจะสามารถเพิ่มเที่ยวเป็น 5-6 เที่ยว/วันได้ ซึ่งจะแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่ต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมให้บริการรถแท็กซี่ในสนามบินหรือเซอร์ชาร์จ โดยได้มอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ศึกษารายละเอียดและแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถ การให้บริการทั้งหมด และสรุปผลภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่สนามบินเสนอขอปรับขึ้นค่าเซอร์ชาร์จรถแท็กซี่ จากปัจจุบัน 50 บาท โดยประเภทรถแวนปรับเป็น 95 บาท และประเภทแท็กซี่เก๋งเป็น 75 บาท ซึ่งที่ประชุมยังเห็นว่าจะต้องพิจารณาการให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนรถแท็กซี่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ
ส่วนกรณีการปรับขึ้นค่ามิเตอร์รถแท็กซี่โดยสารรอบที่ 2 นั้น นายอาคมกล่าวว่า ยังไม่มีการพิจารณาในขณะนี้เนื่องจากต้องทำการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อน ส่วนราคาเชื้อเพลิงในขณะนี้อยู่ในภาวะที่ยังไม่มีการปรับขึ้น โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะสรุปรายละเอียดการศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นกระทรวงคมนาคมจึงจะพิจารณาได้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2558
โดยเมื่อวันที่ 19 ต.ค. นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายต่อกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยระบุว่า การทำงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเน้นการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความปลอดภัยทั้งด้านตัวรถและคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้านนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า โครงการในปี 2559 สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เน้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้านเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล, โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนจังหวัดชายแดน 9 แห่ง ประกอบด้วย เชียงราย ตาก มุกดาหาร หนองคาย สระแก้ว ตราด กาญจนบุรี สงขลา และนราธิวาส, โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน ผ่านเส้นทาง R3A, โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม รองรับการขนสินค้าระหว่างประเทศไทย-ลาว-เวียดนาม-จีน ผ่านเส้นทาง R12 การก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสาร โดยให้ผู้รับผิดชอบโครงการพิจารณาติดตามความคืบหน้าการดำเนินการอย่างใกล้ชิด