พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดลำปาง และ จังหวัดพะเยา โดยในช่วงเช้าเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ณ ศาลากลาง จ.ลำปาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวต้อนรับพร้อมบรรยายภาพรวมของจังหวัด ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการผลิตภัณฑ์ OTOP และพบปะประชาชน พร้อมเป็นประธานพิธีมอบเเอกสารใบอนุญาต คทช. และเอกสาร สปก. 4-01 ให้กับประชาชน ณ ที่ว่าการ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จากนั้นช่วงบ่ายได้เดินทางต่อไปยัง จ.พะเยา เพื่อประชุมติดตามงานตามนโยบายรัฐบาลและการบริหารจัดการน้ำของ จ.พะเยา เป็นประธานการมอบเอกสารสิทธิ์มอบเอกสาร คทช. จำนวน 1 แปลง และมอบเอกสาร สปก.4-01 รวม 9 อำเภอ เพื่อมอบต่อให้เกษตรกรในพื้นที่ และลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการขุดลอกกว๊านพะเยาตามลำดับ
จากการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ 2 จังหวัดในครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบช่วงฤดูแล้งไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดให้น้อยที่สุด โดยมอบหมายให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง 2565/2566 อย่างเคร่งครัด และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2566 รวมทั้งให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการป้องกันและบรรเทาปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรียังติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของโครงการพัฒนาฟื้นฟูกว๊านพะเยารวม 5 ด้าน ได้แก่ 1.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 3.การพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว 4.การส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต และ 5.ด้านการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ ซึ่งดำเนินการโดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำในพื้นที่ตอนบนของกว๊านพะเยากว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มปริมาตรเก็บกักในกว๊านพะเยา 9.275 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อการทำการเกษตร และการอุปโภคบริโภคในพื้นที่รอบกว๊าน พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 1.5 แสนไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 1.6 แสนครัวเรือน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมูลค่าไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท/ปี ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 31,700 ไร่ รวมทั้งเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ต้นน้ำอีกด้วย ซึ่งระยะเร่งด่วนรองนายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยที่รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้กว๊านพะเยามีการพัฒนาและฟื้นฟู สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในทุกมิติได้เต็มศักยภาพ โดยได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน และกรมประมง เร่งรัดดำเนินการตามแผนการพัฒนากว๊านพะเยาให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 รวมถึงให้กรมชลประทาน ก่อสร้างทำนบดินลาดยางรอบกว๊านพะเยา เพื่อความสะดวกและเชื่อมการท่องเที่ยวรอบกว๊านพระเยา โดยในระยะเร่งด่วนให้เร่งทำทำนบดินลาดยาง ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร
ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จ.ลำปาง และพะเยา ในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 ตามที่ กอนช.ได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ พบว่า จ.ลำปาง ไม่มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภค ทั้งในเขตการประปาส่วนภูมิภาค และนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด ขณะที่ด้านเกษตรกรรม นารอบที่ 2 (นาปรัง) ไม่มีพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน ยกเว้นพืชต่อเนื่องประเภทไม้ผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ) มี 2 ตำบล 2 อำเภอ ได้แก่
ต.บ้านบอม อ.แม่ทะ และ ต.บ้านหวด อ.งาว สำหรับจ.พะเยา คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค 2 แห่ง ได้แก่ สาขาพะเยา และสาขาจุน ส่วนนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค ไม่มีพื้นที่เสี่ยง สำหรับพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำด้านเกษตรกรรม นารอบที่ 2 (นาปรัง) มี 1 ตำบล 1 อำเภอ คือ ต.หงส์หิน อ.จุน พืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ) ไม่มีพื้นที่เสี่ยง ซึ่ง กอนช.ได้ส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมแผนงานโครงการในการสนับสนุนน้ำต้นทุน เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรไม่ให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเรียบร้อยแล้ว