ครม.อนุมัติ 6.2 พันลบ. สร้างอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จ.น่าน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 3.55 หมื่นไร่ ช่วยประชาชนกว่า 6 พันครัวเรือน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ครม.อนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน วงเงินงบประมาณ 6,200 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 7 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2573) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคบริโภคของประชาชนในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน รวมถึงสามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดได้
โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านวังผา หมูที่ 2 ตำบลผาทอง อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน มีพื้นที่รวม 1,733 ไร่ 84 ตารางวา พื้นที่โครงการตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำยาวและป่าน้ำสวด ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานใช้พื้นที่ดังกล่าวแล้ว และกรมชลประทานได้ดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้ เป็นการก่อสร้างเขื่อนชนิดหินถมแกนดินเหนียว ความจุ 52.31 ล้านลูกบาศก์เมตร ความยาวเขื่อน 845 เมตร ความสูงเขื่อน 81.5 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 12 เมตร พร้อมอาคารประกอบ เช่น อาคารส่งน้ำ อาคารทางระบายน้ำล้น และระบบชลประทานแบบท่อส่งน้ำและคลองส่งน้ำคอนกรีต ความยาวรวม 88.13 กิโลเมตร
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ มีพื้นที่ชลประทานเกิดขึ้นจำนวน 35,558 ไร่ ครอบคลุม 8 ตำบล ของจังหวัดน่าน ได้แก่ ตำบลผาทอง ตำบลผาตอ ตำบลป่าคา ตำบลแสนทอง ตำบลศรีภูมิ ตำบลริม ตำบลตาลชุม และเทศบาลตำบลท่าวังผา และมีประชาชนได้รับประโยชน์ 6,305 ครัวเรือน
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำ “น้ำกิ” จังหวัดน่าน มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและกรมชลประทานได้ออกแบบท่อส่งน้ำและอาคารโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไว้ด้วยแล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยรอบ ที่ประชุมเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาการร่วมกับกระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำหรือพลังแสงอาทิตย์ของโครงการด้วย โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุดของโครงการเป็นสำคัญ