ครม.เห็นชอบเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี และรับทราบ 6 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมัน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติรับทราบสรุปมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/65 และเห็นชอบให้เปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568)
การประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 3/65 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 มีมติ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. การกำหนดมาตรฐานการรับซื้อผลปาล์ม 2. โครงการติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำมันปาล์มเพื่อบริหารจัดการและควบคุมสต็อกน้ำมันปาล์ม 3. การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568) 4. การขอขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน ปี 2565 (อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ) 5. โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2565-2566 และมาตรการคู่ขนาน ปี 2566 (อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบ) และ 6. การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากที่ครม. รับทราบมติการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ครั้งที่ 3/65 ดังกล่าวแล้ว วันนี้ ครม. มีมติเห็นชอบ การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มและบริหารการนำเข้าคราวละ 3 ปี (ปี 2566-2568) เงื่อนไขเป็นไปตามข้อผูกพันของทุกกรอบการค้า และให้ องค์การคลังสินค้า เป็นผู้นำเข้าและกระจายสินค้าให้ผู้ผลิตภายในประเทศตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มเป็นผู้จัดสรร ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีไทย - ชิลี ( TCFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) (เฉพาะน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยให้มีการบริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับความตกลงการเกษตรภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้ ยกเว้นความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand – Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นไทย - นิวซีแลนด์ (Thailand – New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) ที่ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าและปฏิบัติตามมาตรการการบริหารการนำเข้า