ช่วงเทศกาล “ตรุษจีน 2566” การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศมีความคึกคักมากขึ้นจากปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้เกิดรายได้รวมประมาณ 21,296 ล้านบาท ฟื้นตัว 48% จากปี 2562
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เปิดเผยว่า สำหรับ “ตลาดต่างประเทศ” ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2566 ระหว่างวันที่ 19-27 ม.ค. รวม 9 วัน คาดว่าภาพรวมจะมีจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยประมาณ 588,900 คน เพิ่มขึ้น 1,622% เมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นการฟื้นตัว 41% ของจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติช่วงตรุษจีนปี 2562 คาดสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 16,696 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,759% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และฟื้นตัว 44% จากปี 2562
ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก (รวมเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและอาเซียน) คาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ จะมีจํานวนนักท่องเที่ยวราว 332,500 คน เพิ่มขึ้น 9,174% เมื่อเทียบกับช่วงตรุษจีนปีที่ผ่านมา คิดเป็นการฟื้นตัว 33% ของช่วงตรุษจีนปี 2562 และสร้างรายได้ประมาณ 11,119 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,575% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นการฟื้นตัว 41% ของปี 2562 โดยตลาดที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีน ได้แก่ เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลตรุษจีนติดต่อกันราว 3-5 วัน
และหากพิจารณาเฉพาะ “นักท่องเที่ยวจีน” ที่เป็นตลาดหลักเดินทางเข้าไทยในช่วงตรุษจีนปีนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาราว 29,400 คน เพิ่มขึ้น 3,738% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นการฟื้นตัว 7% ของจํานวนนักท่องเที่ยวจีนช่วงตรุษจีนปี 2562 และสร้างรายได้ประมาณ 1,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,968% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนปี 2562
“ในปี 2566 จํานวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนในช่วงตรุษจีนฟื้นตัวกลับมาในอัตราที่ไม่สูงมากนัก แม้มีปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางต่างประเทศได้ ด้วยการยกเลิกมาตรการกักตัวขาเข้า ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป”
หลังจากรัฐบาลจีนจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19ภายในประเทศมานานเกือบ 3 ปี เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคหลัก ได้แก่
1.จํานวนเที่ยวบินระหว่างไทยและจีน ของสายการบินทั้งในไทยและจีนไม่สามารถฟื้นตัวได้ทัน และไม่เพียงพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย
2. นักท่องเที่ยวจีนต้องใช้เวลาในการทําหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ฉบับใหม่ และการขอวีซ่าเข้าประเทศไทย
3.รัฐบาลจีนยังไม่อนุญาตให้บริษัทนําเที่ยวขายแพ็คเกจทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมแล้วพบว่ามีปัจจัยสนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ ได้แก่ จํานวนเที่ยวบินเข้าไทยในเดือน ม.ค.2566 มีเที่ยวบินเข้าไทยรวม 11,515 เที่ยวบิน และมีจำนวนที่นั่งบินเข้าไทยรวม 2.7 ล้านที่นั่ง ขยายตัว 7% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2565 โดยภูมิภาคที่มีจํานวนเที่ยวบินและที่นั่งบินเข้าไทยสูงสุด 3 แรก คือ อาเซียน เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเอเชียใต้
ส่วนตลาดจีน หลังจากนักท่องเที่ยวจีนได้รับอนุญาตให้เดินทางต่างประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไป นักท่องเที่ยวจีนสามารถขอทําพาสปอร์ต ขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยว และไม่ต้องกักตัวขากลับเข้าจีนหลังมาเที่ยวไทยนั้น พบว่าในเดือน ม.ค. มีจํานวนเที่ยวบินจากจีนเข้าไทยช่วงเทศกาลตรุษจีนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีเที่ยวบินรวม 234 เที่ยวบินและมีที่นั่งบินรวม 48,249 ที่นั่ง
โดยเที่ยวบินทั้งหมดมาจาก 15 เมืองในจีนเข้าสู่เมืองท่องเที่ยวหลักของไทย คือกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต โดยจำนวนเที่ยวบินในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตั้งแต่วันที่ 16-31 ม.ค. ซึ่งตรงกับช่วงตรุษจีน มีจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ย 11 เที่ยวบินต่อวัน และมีจำนวนที่นั่งประมาณ 2,000 ที่นั่งต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากช่วงครึ่งเดือนแรก (1-15 ม.ค.) ซึ่งมี 4 เที่ยวบินต่อวัน และมีจำนวนที่นั่งเฉลี่ยประมาณ 1,000 ที่นั่งต่อวัน
ทั้งนี้ ไทยยังครอง “อันดับ 1” ประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2566 จากการรายงานของ Trip.com (Ctrip) แพลตฟอร์ตออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของจีน พบว่า “วันหยุดยาวต่อเนื่องกัน 7 วันในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตั้งแต่วันที่ 21-27 ม.ค.” และ “การอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจีนเดินต่างประเทศได้อย่างเสรี” เป็น 2 ปัจจัยสนับสนุนหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเดินทางต่างประเทศในช่วงตรุษจีนปี 2566 และการเดินทางไปต่างประเทศของนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น 540% เมื่อเทียบกับตรุษจีนปี 2565
ตามรายงานของ Trip.com ระบุด้วยว่าภาพรวมยอดการจองการเดินทาง (Overall Travel Bookings) ของนักท่องเที่ยวชาวจีนไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ขยายตัวถึง 1,026%และยอดการจองบัตรโดยสารเครื่องบิน (Air Ticket Bookings) จากจีนไปยังในภูมิภาคอาเซียน ขยายตัวถึง 864% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยประเทศปลายทางยอดนิยมในภูมิภาคอาเซียน 5 อันดับแรกของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดตรุษจีนปี 2566 ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
อีกปัจจัยคือ “ประเทศคู่แข่งหลัก” ด้านการท่องเที่ยวของไทยในตลาดจีนกําหนด “มาตรการขาเข้าประเทศสําหรับนักท่องเที่ยวจีน” อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางมายังประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย
โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ม.ค.2566 มีมากกว่า 10 ประเทศออกมาตรการขาเข้าประเทศสําหรับนักท่องเที่ยวจีน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน สหรัฐ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี ออสเตรเลีย แคนาดา และ อิสราเอล โดยมาตรการส่วนใหญ่กําหนดให้นักท่องเที่ยวจีน หรือ มาจากประเทศจีน ต้องแสดงผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ หรือตรวจหาเชื้อโควิดเมื่อถึงสนามบิน
ขณะเดียวกัน ททท.ได้ทำตลาดกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย ช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2566 อาทิ ททท. สํานักงานเซี่ยงไฮ้ ร่วมกับ “ทริปดอทคอมกรุ๊ป” (Trip.com Group) ซึ่งเป็นบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในจีน ครองส่วนแบ่งตลาดราว 40%จัดกิจกรรม “Boss Live Streaming” เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ณ โรงแรม เพนนินซูล่า กรุงเทพฯ เป็นระยะเวลา 4 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น. เพื่อขายที่พักและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยในรูปแบบของ Live Streaming ที่กําลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดจีน
“ผลการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีจํานวนผู้เข้าชม Live Streaming กว่า 300 ล้านคน และมียอดขายกว่า 11,000 Pax GMV (Gross Merchandise Value) สูงถึง 4 พันล้านหยวนในวันดังกล่าว สินค้าท่องเที่ยวหลักเป็นโรงแรมไทยระดับลักชัวรี (Luxury) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเดินทางด้วยตัวเองที่พร้อมออกเดินทางเป็นกลุ่มแรก (First mover FIT) ที่มีคุณภาพ”
นายยุทธศักดิ์ เล่าเพิ่มเติมว่า ส่วน “ตลาดในประเทศ” ช่วงตรุษจีนปีนี้ มีแนวโน้มเติบโตอย่างชัดเจน คาดมีจํานวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 1,384,200 คน-ครั้ง ฟื้นตัว 90% เมื่อเทียบกับปี2562 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 4,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และฟื้นตัว 81% จากปี 2562 โดยมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 59% เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนและคนจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจะใช้ช่วงเวลานี้ชดเชยเวลาที่หายไปช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วยการออกมาร่วมกัน “เฉลิมฉลอง” วันขึ้นปีใหม่จีนกับครอบครัว ทั้งในรูปแบบรับประทานอาหารร่วมกัน การออกมาไหว้พระขอพร เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความสุขเข้ามาในชีวิตทั้งตัวเองและครอบครัว ตลอดจนเดินทางท่องเที่ยวและพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ
สําหรับพื้นที่ที่ ททท.ดําเนินการจัดงานและให้การสนับสนุนเทศกาลตรุษจีนปี 2566 จํานวน 8 พื้นที่ น่าจะได้รับความสนใจจากคนไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายวันในการจัดงานในแต่ละพื้นที่ โดย “กรุงเทพฯ” เป็นพื้นที่จัดงานตรุษจีนที่มีจํานวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสูงเป็นอันดับ 1 มาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 คาดมีจํานวนการเดินทางท่องเที่ยว 197,350 คน-ครั้ง และมีรายได้ประมาณ 870 ล้านบาท เนื่องจากมี “เยาวราช” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของวัดและศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงอันเป็นศูนย์รวมความเชื่อความศรัทธาที่เหล่าลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเดินทางมาไหว้พระเพื่อเสริมสิริมงคล ไหว้พระแก้ปีชง และเป็นแหล่งสินค้าอุปโภคบริโภคของชาวจีนที่ต้องมาซื้อของจับจ่ายสําหรับการไหว้เจ้า ทั้งยังเป็นศูนย์รวมอาหารอร่อยตั้งแต่ระดับภัตตาคารจนถึงสตรีทฟู้ด (Street Food) จึงทําให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่เยาวราชมีความครึกครื้น และสร้างรายได้ในช่วงตรุษจีนให้กับกรุงเทพฯเติบโตมาโดยตลอด