นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบถึงความคืบหน้า การดำเนินการโครงการ ข้าวรักษ์โลก BCG Model นาปรัง ช่วยเพิ่มผลผลิตให้ชาวนา ลดต้นทุนการผลิต รักษาสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ 3 น (น้ำ นา นวัตกรรม)
โดย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำนาแบบดั้งเดิม ค่อนข้างส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การกำจัดตอซังข้าว ในขณะที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้นรัฐบาลจึงได้สนับสนุนโครงการ ข้าวรักษ์โลก BCG Model นาปรัง เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับชาวนาโดยเฉลี่ยต่อไร่ได้มากกว่า ช่วยลดต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ 3 น (น้ำ นา นวัตกรรม) ซึ่งผลจากการดำเนินการของโครงการในระยะที่ 1 เป็นที่น่าพึงพอใจ
สำหรับโครงการข้าวรักษ์โลกนี้ เป็นต้นแบบการปฏิวัติการทำนาแบบยั่งยืน ตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเกิดจากจากแนวคิดการผลิตข้าวแบบใหม่ ด้วยการนำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ได้ข้าวคุณภาพสูง เป็นข้าวที่ตรงตามความต้องการของตลาด ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยในระยะที่ 1 รัฐบาลได้ส่งเสริมโครงการฯ ผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ นำร่องที่ จังหวัดเชียงราย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ รวม 20 กองทุน กองทุนละ 1,500,000 บาท บนพื้นที่ของโครงการ รวมกว่า 10,830 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 2,674 คน สามารถเพิ่มผลผลิตโดยเฉลี่ย 27.07 % และลดต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย 38.20 %
โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model นาปรัง ดำเนินมาถึงระยะที่ 2 ที่จะสนับสนุนใน 10 จังหวัด จังหวัดละ 10 โครงการ รวม 100 โครงการ ในภาคเหนือ 4 จังหวัด, ภาคกลาง 3 จังหวัด และภาคใต้อีก 3 จังหวัด โดยได้นำบทเรียนมาจากระยะที่ 1 ด้วย
ทั้งนี้ นายอนุชา ยังกล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานโครงการฯ ขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ตลอดจน เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ ที่ช่วยกันขับเคลื่อนโครงการนี้ ซึ่งผลสำเร็จจากโครงการจะช่วยส่งเสริมให้ข้าวไทยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ยิ่งกว่าในอดีต นำรายได้เข้าประเทศให้ประสบผลสำเร็จอย่างดี นายกรัฐมนตรีหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการข้าวรักษ์โลกนี้ จะเป็นต้นแบบในการส่งต่อความสำเร็จสู่สินค้าเกษตรอื่น ๆ เพื่อให้ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ตอบโจทย์กระแสผู้บริโภคในโลกยุคปัจจุบัน ผลักดันให้ไทยเป็นแหล่งอาหาร และสินค้าเกษตรคุณภาพสูงในเวทีโลก รวมทั้งมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง