ครม.เห็นชอบโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย วงเงิน1,514.6172ล้านบาท เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต พร้อมคุ้มครองข้อมูลตามกฎหมาย
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 มกราคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย ตามที่เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาคลาวด์ข้อมูลสุขภาพ สธ. เพื่อวางแผนร่วมกันและดำเนินการพัฒนาระบบบริการและระบบบริหารจัดการสุขภาพ เชื่อมโยงระบบการดูแลสุขภาพแบบดิจิทัลเพื่ออนาคต (Digitally connected health care system of the future) ให้ข้อมูลสุขภาพสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไร้รอยต่อและได้รับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ หน่วยบริการสามารถจัดบริการให้เกิดการรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ และได้ร่วมกันเสนอโครงการฯ เพื่อขับเคลื่อนตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียม/พัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของไทย (National Health Information Platform) สำหรับบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ และเพื่อเช่าใช้ระบบคลาวด์พื้นฐานเป็นแพลตฟอร์มกลางภายใต้การดูแลของภาครัฐ รองรับการบูรณาการข้อมูล และการเก็บข้อมูลในรูปแบบ Private Cloud มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นในการให้บริการด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งในกรอบวงเงิน 1,514.6172 ล้านบาทสำหรับระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2566-2568) ซึ่งจะประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก คือ 1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั่วประเทศ ครอบคลุมการจัดหาระบบซอฟต์แวร์ (Application Software) การจ้างพัฒนาระบบและการฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 1,129.3157 ล้านบาท และ 2.การจัดหาบริการระบบคลาวด์กลาง (Cloud Server) ครอบคลุมการเช่าคลาวด์กลางด้านสาธารณสุข จำนวน 4,311 VM การเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม และการบริหารจัดการ Log และ Managed Security Service วงเงิน 385.3014 ล้านบาท ซึ่งจะมีแหล่งเงินงบประมาณจากงบประมาณ ปี 2566 งบกลางฯ จำนวน 553.8203 ล้านบาท และจำนวน 960.7969 ล้านบาทเป็นงบผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2567-2568
กรอบแนวคิดของระบบงาน คือ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงการให้บริการสุขภาพทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ โดยมีระบบงานที่สำคัญประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพสำหรับเขตสุขภาพ (MOPH Data Exchange Gateway) เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการภาครัฐในสังกัดอื่นๆ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ และเก็บข้อมูลทางสถิติงานบริการจัดการสุขภาพ สร้างรายงาน เพื่อใช้งาน การวางแผน พัฒนา จัดการทางกลยุทธ์ต่างๆ และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลบริหารจัดการจากส่วนงานต่างๆ
2. ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Central Data Exchange Service) เป็นตัวแทน (Proxy/Broker) ในการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้ามหน่วยงานต่างๆ
3. พัฒนาแพลตฟอร์มสารสนเทศกลาง เพื่อให้บริการผู้ป่วยนอก สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อการบันทึกข้อมูลสุขภาพ เชื่อมโยงข้อมูลในการรับ - ส่งต่อ และการส่งรายงานด้านสาธารณสุข ทั้งนี้ แพลตฟอร์มสารสนเทศกลางจะเปิดโอกาสให้เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากระบบสารสนเทศจากระดับปฐมภูมิ และระบบต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว
“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพการบริการในหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ผ่านระบบดิจิทัลอย่างเป็นสากล เพื่อประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ รวม 901 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จำนวน 9,000 แห่งเข้าใช้คลาวด์กลางด้านสาธารณสุข และทำให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อย่างน้อย 4,500 แห่งเข้าใช้ระบบสารสนเทศเพื่อให้บริการผู้ป่วยนอกได้ ในกรณีฉุกเฉินแพทย์ผู้รักษาสามารถดูข้อมูลคนไข้เพื่อให้การรักษาชีวิตของคนไข้ได้อย่างรวดเร็วและยังรองรับการให้บริการทางการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตามสิทธิของเจ้าของข้อมูลด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว