วันนี้ (5 ก.ค.60) ที่ สถาบันราชานุกูล เปิดบ้าน อวดงานศิลปะ จากศักยภาพ เด็กพิเศษ จำนวนกว่า 130 ผลงาน พร้อมคัดเลือกผลงานโดดเด่นเพื่อนำเสนอที่เมืองคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนสิงหาคม 2560
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ศิลปะบำบัด มาจากแนวคิดที่ศิลปะสามารถทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้และเข้าใจตนเองรวมทั้งมีการพัฒนาในมิติต่างๆ ได้ กระบวนการสร้างสรรค์ของงานศิลปะสามารถเยียวยาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น เป็นการสื่อสารความคิดความรู้สึกในรูปแบบที่ปราศจากคำพูด ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับชีวิตและความรู้สึกถึงสมดุลทางอารมณ์ ช่วยให้บุคคลในวัยต่างๆ สร้างจินตนาการและการผ่อนคลายทางอารมณ์ นอกจากนี้ ยังช่วยในการบำบัดรักษาด้านอารมณ์ ลดความคับข้องใจ และช่วยให้บุคคลเข้าใจตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ การนำศาสตร์ทางศิลปะและวัสดุเข้ามาผสมผสานให้เกิดรูปแบบของกิจกรรมในทางทัศนศิลป์ เช่น การวาดภาพ การระบายสี การปั้น สื่อผสม ยังเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำศิลปะมาใช้กับผู้ที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ในแง่ของการส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก การประสานงานระหว่างสายตาและมือ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ผู้บกพร่องฯ สะท้อนความคิด ความรู้สึก เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ ฝึกสมาธิ ผ่อนคลายอารมณ์และจิตใจ แสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี
ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวต่อว่า ในวันนี้ สถาบันราชานุกูล โดยกลุ่มงานศิลปกรรมบำบัด ได้จัดงาน The art of us โครงการพัฒนาศักยภาพผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญาด้านศิลปะ ขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ งานด้านศิลปะ เชิงสร้างสรรค์ แก่บุคลากรและผู้สนใจ รับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับแนวคิดการใช้ศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจน เปิดพื้นที่การเรียนรู้แก่บุคคลทั่วไป ผู้ปกครอง ที่จะนำไปสู่มุมมองใหม่ในการประยุกต์ใช้ศิลปะบำบัดเชิงสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตของตนเอง ผู้บกพร่องฯ และผู้อื่น ที่สำคัญ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางด้านศิลปะของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา ซึ่ง มีผลงานส่งเข้าร่วมแสดงทั้งสิ้น 130 ผลงาน โดยผลงานบางส่วนในวันนี้จะได้คัดเลือกเพื่อไปร่วมแสดงในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้ ณ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต้ ประเทศญี่ปุ่น จากความร่วมมือระหว่างคูมาโมโต้ซิตี้ มหาวิทยาลัยคุมาโมโต้ และองค์กรไจก้า
กิจกรรม ภายในงาน วันนี้ นอกเหนือจากการแสดงผลงานที่น่าชื่นชมกว่า 130 ชิ้นแล้ว ยังมีการบรรยาย ในหัวข้อ “ศิลปะแห่งชีวิต” โดย คุณอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี (ครูมอส) จิตรกร และนักศิลปะบำบัด มนุษยปรัชญา กิจกรรม Workshop “Paint & Sculpture” สำหรับผู้บกพร่องทางพัฒนาการฯ และการวิเคราะห์ผลงานศิลปะของผู้บกพร่องทางพัฒนาการและสติปัญญา โดย ผศ.ดร. เลิศศิริร์ บวรกิตติ นักวิชาการศิลปศึกษาและศิลปะบำบัด มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ คุณอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว