เมื่อวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2560 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดโครงการ "กรมท้องถิ่น สานพลังประชารัฐช่วยเกษตรกร" เพื่อช่วยเหลือกลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาราคาสับปะรดตกต่ำ โดยกรมฯ รับซื้อสับปะรด จำนวนกว่า 22 ตัน (22,000 กิโลกรัม) เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และลำปาง ที่ได้รับความเดือดร้อน ให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกและมีรายได้เลี้ยงชีพต่อไปได้ โดยนำมาแจกให้กับข้าราชการ พนักงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชน...ฟรี ณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
จากปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งเกิดขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจของตลาดโลก และเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ล่าสุด สับปะรดกำลังประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ส่งผลให้มีปริมาณสับปะรดล้นตลาด เนื่องจากไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ทำให้ผลสับปะรดต้องเน่าคาไร่ ผลผลิตเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 ในบางพื้นที่ยังพบว่าชาวไร่ต้องตัดผลสับปะรดทิ้ง เพราะหากปล่อยไว้จะทำให้ต้นสับปะรดเสียหาย กลุ่มเกษตรกรจึงต้องนำสับปะรดมาขายกันในราคาถูก และยังต้องแบกรับภาระจากต้นทุนการผลิตในการเพาะปลูกอีกด้วย
นายจรินทร์ จักกะพาก อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงมีนโยบายในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยสานต่อโครงการของพระอาจารย์พบโชค ติสสะวังโส เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง อ.เมือง จังหวัดเชียงราย จัดโครงการ “กรมท้องถิ่น สานพลังประชารัฐช่วยเกษตรกร” โดยเริ่มให้การช่วยเหลือในวันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2560 เป็นครั้งแรก แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และลำปาง ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังพบว่า มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก จนราคาของสับปะรดมีราคาตกต่ำ และไม่มีตลาดที่รองรับอย่างเพียงพอ โดยรับซื้อสับปะรดจำนวนกว่า 22 ตัน (22,000 กิโลกรัม) มาแจกให้กับข้าราชการ พนักงาน พี่น้องประชาชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ และชุมชนต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูกและมีรายได้เลี้ยงชีพต่อไป
นอกจากนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้ หวังว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมต่อไป ทั้งยังได้กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเปรียบเสมือนหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดพี่น้องประชาชนมากที่สุด ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในรูปแบบพลังประชารัฐ เข้าไปพบปะ พูดคุย สอบถามถึงปัญหา และความต้องการของพี่น้องเกษตรกร เพื่อช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน และแก้ไขปัญหาให้กลุ่มเกษตรกร สามารถดำรงชีพอยู่ได้บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง