พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีแรงงานต่างด้าวที่แห่กลับไปยังชายแดนเพื่อดำเนินการตามพระราชกำหนดบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ว่า ขอให้แรงงานต่างด้าวอย่าตื่นตระหนก ซึ่งแรงงานที่ต้องการทำงานในไทยต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยส่วนตัวให้เวลาไปแล้วและผู้ประกอบการจะต้องจัดสรรเวลาให้ได้ภายใน 6 เดือน และทุกคนต้องปรับตัว หรือคนเหล่านี้ออกไปแล้วเอาคนใหม่ที่ขึ้นทะเบียนแล้วบริเวณชายแดน แต่หากจะเอาคนเก่าก็ต้องยอมรับต้องไปทำให้ถูกต้อง ไม่ใช่จะเอาทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม เรื่องสินค้ามวลรวมประเทศก็มีความจำเป็นแต่หากขายไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ประเทศและรัฐบาลก็เดือดร้อน ก็ต้องช่วยกันคนละครึ่ง ไม่ใช่ยกเลิกกฎหมายแต่ต้องปรับตัว ซึ่งได้ให้เวลาปรับตัวและปรับทั้งระบบ ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนทำมาก่อน หากประเทศชาติเสียหายในวันหน้าจะทำอย่างไร ส่วนที่ภาคเอกชนขอให้ทบทวนโทษปรับกรณีผิดพระราชกำหนดนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานที่กำลังดำเนินการในส่วนนี้ ซึ่งส่วนตัวให้นโยบายไปแล้ว
ขณะที่การเข้าตรวจสอบการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู เพื่อประเมินจัดอันดับของไทยนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การประเมินขึ้นอยู่กับไอยูยู แต่รัฐบาลทำให้ดีที่สุดได้เท่านี้ และรับข้อสังเกตทั้งหมดมาดำเนินการแล้ว แต่จะทำได้ร้อยเปอร์เซ็นหรือไม่นั้น ต้องรอเวลาให้ไอยูยูมาตรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาหมักหมมมาหลายปี เมื่อมีการดำเนินการก็ทำให้เดือดร้อน ทั้งที่ควรจะทำมานานแล้ว จึงขอให้นำส่วนนี้มาคิดบ้าง ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปไล่ล่าให้กระทบภาคเศรษฐกิจ แต่ต้องทำ เพราะจะหวังให้รัฐบาลอื่นทำคงไม่ได้
สำหรับกำหนดการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกานั้น ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องมีการเตรียมการและดูช่วงเวลาว่าง ขออย่าเร่งรัดมากนัก เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องหารือกันจึงต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลให้มีความพร้อม ซึ่งเราเองก็ต้องมีแนวทางที่จะไปพูดคุยให้ชัดเจน ว่าทั้งสองฝ่ายต้องการอะไร จึงไม่อยากให้เป็นการพบปะที่เร่งรัดมากเกินไป ขณะเดียวกันตนเองก็มีงานสำคัญในช่วงนี้เกี่ยวกับการปฏิรูปและเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องของในสภาที่ส่วนตัวต้องประคับประคองให้เป็นไปได้ด้วยดีในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงสำคัญ แต่สิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีคือทางสหรัฐฯ ได้เชิญไทย แต่การจะไปพบเมื่อไหร่ขออย่าไปบังคับ เร่งรัดนัก หากเร่งรัดกันไปมาก็จะเป็นประเด็นขึ้นมาใหม่ อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ขอให้ดี
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงกรณีครบกำหนด 90 วัน ที่กำหนดให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งบางส่วนระบุว่าจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรี ว่า ส่วนตัวได้เคยพูดไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนไม่เกี่ยวอะไรกับตนเอง ส่วนจะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่ลงเล่นการเมืองในวันหน้านั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ยืนยันอะไรทั้งนั้น