นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บางส่วน ประสงค์ขอย้ายกลับ ว่า การถ่ายโอนสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และ รพ.สต. เป็นไปตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งต้องขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุข เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจฯ และเชื่อว่าการถ่ายโอนภารกิจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงเปลี่ยนผ่านย่อมจะเกิดปัญหาและอุปสรรค โดยเฉพาะความไม่พร้อม ทั้งคนรับและคนถ่ายโอน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงประชาชนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญที่สุด คณะกรรมการจึงมีการติดตามประเมินผลว่าถ่ายโอนแล้วมีปัญหาอุปสรรคที่ต้องแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ทำให้พบข้อมูลต่าง ๆ เช่น ความไม่พร้อมของการถ่ายโอน ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน หรือความต้องการอยากย้ายกลับกระทรวง เป็นต้น
นพ.พงศ์เกษมกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าการถ่ายโอนภารกิจต่อไปตามกฎหมายและขั้นตอนกระบวนการที่คณะกรรมการถ่ายโอนฯ กำหนด เท่าที่มีอำนาจตามกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะนำข้อมูล ข้อเสนอต่าง ๆ จากผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่มาหารือกันในคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอน เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข อบจ. และ รพ.สต. รวมทั้งประเด็นปัญหาขัดกันทางกฎหมายที่มีหลายฉบับต้องแก้ไข เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ โดยตั้งแต่มีการถ่ายโอนภารกิจในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา จนถึงขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่ง ช่วยสนับสนุน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป อบจ.อย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชนหรือหากจะมีก็ให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
“อุปสรรคอย่างหนึ่งของการถ่ายโอนในระดับการจัดการส่วนกลาง คือการประชุมของชุดอนุกรรมการที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องติดตามทวงถามบันทึกการประชุมอยู่ตลอด เพื่อนำมติที่ประชุมมารับรอง เพื่อเป็นฐานการใช้อำนาจในการออกมติต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในการปฏิบัติที่เกิดประโยชน์สุขของประชาชนและระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืน เนื่องจากมี พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้อง และลำดับชั้นของการใช้กฎหมายประกอบอยู่มาก นอกจากนั้นคู่มือแนวทางการถ่ายโอนฯ ก็เร่งรีบดำเนินการ และไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ซึ่งสิ่งนี้ในทางการใช้ระเบียบกฎหมายปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป” นพ.พงศ์เกษมกล่าว