สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่รายงานว่า ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์โควิด-19 สามารถสร้างรายได้ราว 3 ล้านล้านบาท โดยเป็นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาท และเป็นการท่องเที่ยวภายในประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งภาคแรงงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 11 ล้านคน
สำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงินรวม 2,016 ล้านบาทให้สิทธิ์ 560,000 สิทธิ์ กลุ่มเป้าหมาย 112,000 คน โดย 1 คนจะได้รับสิทธิ์สูงสุดไม่เกิน 5 สิทธิ์ (จากเดิม 10 สิทธิ์) รัฐบาลจะสนับสนุนให้ 40% แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้อง, มีคูปอง (E-Voucher) ให้ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน, ไม่มีการสนับสนุนค่าตั๋วเครื่องบินอย่างที่ผ่านมา, ระยะเวลาดำเนินการ : เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2566, ผู้รับประโยชน์จากโครงการ : ประชาชนไทยที่เข้าร่วมโครงการและใช้สิทธิ และผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวที่เข้าร่วม
โดยผู้เข้าร่วมโครงการครั้งแรกและเคยได้รับสิทธิแล้วจะได้รับสิทธิใหม่จำนวน 5 สิทธิ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลในส่วนที่รัฐสนับสนุน เช่นเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 4 เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่มุ่งให้เกิดการใช้จ่ายและการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระของประชาชน โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กระตุ้นความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ในปีท่องเที่ยวไทย 2566 หรือ Visit Thailand Year 2023 : Amazing New Chapters เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่มีความหมายและทรงคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอ Soft Power of Thailand คือ 5F ได้แก่ Food Film Fashion Festival Fight โดยวางแผนกระตุ้นตลาดในประเทศ ด้วยแคมเปญสื่อสาร “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” พร้อมต่อยอดทิศทางส่งเสริมตลาด 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ชูเอกลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค โดยเน้นแนวคิด “การท่องเที่ยวไทยเที่ยวได้ทุกวัน” นำเสนอผ่าน แคมเปญ “365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย...เที่ยวได้ทุกวัน” เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเพิ่มวันพักค้าง โดยแนวทางการดำเนินกิจกรรมประกอบด้วย การดำเนินโครงการทั้ง 2 โครงการอยู่ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลสงกรานต์ และวันหยุดต่อเนื่องจากนักขัตฤกษ์ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และสิงหาคม ช่วยกระตุ้นรายได้ให้กับประเทศทำให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อเนื่อง รวมทั้งยังเป็นการช่วงชิงโอกาสในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่รุนแรงและมาตรการเดินทางระหว่างประเทศไม่มีข้อจำกัดด้วย