วันที่ 29 ม.ค.66 ที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย นายศิริวัฒน์ พินิจพานิชย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานเปิดการประชุมการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นพื้นที่อุทยานมรดกแห่งอาเซียน โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพประกอบด้วย MS.ลัดสะหมัย สิละวง DR.โรเบิร์ด มาสเตอร์ และนายทวี หนูทอง
นายศุภมิตร จารุธัญลักษณ์ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทย โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลยเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน ซึ่งศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการมรดกแห่งอาเซียน ได้แจ้งกำหนดการประเมินอุทยานแห่งชาติภูกระดึงใน ระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2566 ในนามผู้กำกับดูแลพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ได้กำหนดการประชุมโดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ จำนวน 70 คน ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอคุ้มครองดังกล่าว เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ทราบถึงความสำคัญในการนำเสนอพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน
อุทยานแห่งชาติภูกระดึง มีลักษณะพิเศษทางธรณีสัณฐานที่สำคัญทางธรณีวิทยาและภูมิศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ หรือเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น คือ มีลักษณะของภูเขาหินทรายยอดตัด (mesa) ซึ่งเกิดจากการกัดกร่อนของทางน้ำผ่านเนื้อหินภูเขาที่มีความคงทนต่างกัน กลายเป็นลักษณะของภูเขายอดราบ ซึ่งเป็นลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น เป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน โดยจะเดินขึ้นภูกระดึง ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร เพื่อศึกษาระบบนิเวศด้านต่างๆ เช่น ระบบนิเวศระหว่างทาง ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวหน้าผา ( จากผาหมากดูก ถึงผาหล่มสัก) ระบบนิเวศแหล่งท่องเที่ยวน้ำตก(จากน้ำตกวังกวาง น้ำตกเพ็ญพบใหม่ น้ำตกโผนพบ น้ำตกเพ็ญพบ น้ำตกถ้ำใหญ่ จนถึงน้ำตกธารสวรรค์) ระบบนิเวศป่าปิด และเดินลงภูกระดึงต่อไป
บุศย์ สิริปัญญาพร/เลย