นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๓๐๑ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
จากการประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๔ เรื่อง (สั่งผลิตโต๊ะไม้สัก ติดฟิล์มรถยนต์ จ้างดูแลผู้สูงอายุและซื้อคอมพิวเตอร์) รายละเอียด ดังนี้
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน ๔ เรื่อง
๑.กรณีผู้บริโภคได้สั่งผลิตโต๊ะไม้สักวงกลมพร้อมชุดเก้าอี้และชุดกระจกจากผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง จำนวน ๖ ชิ้น ในราคา ๓๔,๐๐๐ บาท ผ่านเฟซบุ๊ก โดยชำระเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ ภายหลัง
รับสินค้า พบว่า เก้าอี้ ๒ ตัว และโต๊ะ ๒ ตัว มีรอยแตก เมื่อนำไปประกอบ พื้นผิวไม่เสมอกันจึงได้ติดต่อไปยังผู้ประกอบการเพื่อขอคืนสินค้า แต่ได้รับการปฏิเสธ หลังจากการเจรจาไกล่เกลี่ยจากคณะอนุกรรมการฯ แล้วเห็นว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยผู้ประกอบการยินดีคืนเงิน จำนวน ๓๑,๐๐๐ บาท แบ่งชำระ ๒ งวด งวดแรกจำนวน ๑๖,๐๐๐ บาท งวดที่สอง จำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท และให้ผู้ประกอบการนำสินค้าไปจำหน่ายต่อได้ และหากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ซึ่งทั้งสองฝ่าย
ได้ลงชื่อเข้าใช้โดยใช้อีเมลและรหัสผ่านส่วนบุคคล อันถือได้ว่าเป็นการระบุตัวตนและเป็นการลงลายมือชื่อตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ ต่อมาร้านค้าไม่ชำระเงินตามข้อตกลง จึงเป็นการกระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๓๑,๐๐๐ บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๒.กรณีผู้บริโภคพบเห็นข้อความโฆษณาผ่านเพจเฟซบุ๊กของบริษัทแห่งหนึ่ง ว่า “ติดฟิล์มด้วยสติกเกอร์สำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ ไม่กินสีรถเดิม ไม่ทิ้งคราบกาวตอนลอกออก” จึงได้นำรถยนต์ยี่ห้อ
เมอร์เซเดสเบนซ์ รุ่น c ๑๘๐ COUPE ใช้บริการติดฟิล์มเปลี่ยนสีรถยนต์ เป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท ภายหลังใช้งานประมาณ ๖ – ๗ เดือน จึงนำรถยนต์ไปให้บริษัทฯ เดิมนำฟิล์มเปลี่ยนสีรถยนต์ออก ปรากฏว่าสีของรถยนต์และแลคเกอร์หลุดลอกทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายหลายจุด จึงขอความเป็นธรรม ทั้งนี้ ผู้บริโภคได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปประเมินราคาค่าซ่อมสีหลายจุด รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๗,๐๐๐ บาท จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า การใช้ข้อความของบริษัทฯ ในการโฆษณาหรือคำรับรองดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้บริโภคเข้ารับบริการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ถือได้ว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๒๗,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓.กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาว่าจ้างดูแลผู้สูงอายุกับห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง โดยชำระค่ามัดจำจำนวน๑๖,๐๐๐ บาท และค่าจัดหาพนักงานเป็นเงิน ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท ต่อมาห้างฯ ได้จัดส่งพนักงานมาดูแลผู้สูงอายุได้ ๑ เดือน และพนักงานลาออก ผู้บริโภคจึงแจ้งให้ห้างฯ ทราบ แต่ไม่สามารถติดต่อได้จึงขอความเป็นธรรม มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพื่อให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔.กรณีผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจได้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดสมุทรปราการว่า ได้ทำสัญญาซื้อคอมพิวเตอร์ประกอบใหม่ทั้งชุดพร้อมลงโปรแกรมออฟฟิศกับบริษัทแห่งหนี่ง ในราคา ๘๔,๙๒๐ บาท แต่ไม่สามารถใช้งานได้ เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย จึงขอความเป็นธรรม จากการประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบริษัทฯ ยินดีคืนเงินจำนวน ๘๔,๙๒๐ บาท เข้าบัญชีธนาคารผู้บริโภคและตกลงชดเชยความเสียหายโดยให้อุปกรณ์ได้แก่ ๑) ปลั๊กไฟ ๒) อุปกรณ์ทำความสะอาดคอมพิวเตอร์ ๒ ชิ้น ๓) คีย์บอร์ดมินิ ๔) ลำโพงบลูทูธ ๒ ชิ้น ๕) แผ่นรองเม้าส์ ๖) แฟลชไดร์ฟ ๒ ชิ้น ๗) พาวเวอร์แบงค์ ๘) แผ่นรองเม้าส์เกมมิ่ง ให้กับผู้บริโภค ต่อมาผู้บริโภคแจ้งว่า บริษัทฯ ไม่ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว การกระทำดังกล่าวจึงเป็นกระทำผิดสัญญาและละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๘๔,๙๒๐ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และบังคับให้ส่งมอบอุปกรณ์ต่างๆ ตามสัญญาประนีประนอม
ยอมความ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๑/๒๕๖๖ ได้มีการดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๔ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๑๖๐,๙๒๐ บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นเก้าร้อยยี่สิบบาทถ้วน) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย