เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้องประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) อ.เมือง จ.พิษณุโลก ผศ.ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม เป็นประธานการประชุมโครงการขับเคลื่อน และพัฒนาสี่แยกอินโดจีน “ด้านโลจิสติกส์ “ โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดพิษณุโลกเข้าร่วมประชุม เช่น สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพิษณุโลก , นายท่าอากาศยานพิษณุโลก ,ผู้แทนภาคการเมือง,ผู้แทนนักวิชาการ ,ผู้แทนบริษัทนำเที่ยว และนักธุรกิจชั้นนำในจังหวัดพิษณุโลก โดยประเด็นนั้นมุ่งไปที่เรื่องของการเดินหน้าทำให้สนามบินพิษณุโลก กลายเป็นสนามบินนานาชาติอย่างแท้จริง หลังรอคอยมานานกว่า 34 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่สนามบินก็มีความพร้อมทุกอย่าง ที่ประชุมจึงได้มีการแบ่งงานหลัก ๆ เพื่อขับเคลื่อนเป็น Action plan ใน 10 หัวข้อการดำเนินการ พร้อมกำหนดผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย
1.การพัฒนาท่าอากาศยานพิษณุโลก พร้อม ขึ้นป้ายเป็น “ท่าอากายานนานาชาติพิษณุโลก” สร้างแรงจูงใจจากสายการบินต่าง ๆ และเพื่อลดความแออัดของสนามบินสุวรรณภูมิมาไว้ที่นี่
2.การพัฒนา ระบบคมนาคม การขนส่งทางบก ให้พร้อม
3.การพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าภาคเหนือตอนล่าง เป็นศูนย์กระจายสินค้า หรือศูนย์จำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรม และการเกษตรที่ครบวงจร
4.การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการค้าการลงทุน จัดให้มีเขตอุตสาหกรรม หรือนิคมอุตสาหกรรม นวัตกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร
5.การพัฒนาเมืองที่ชาญฉลาด ทั้งเรื่องคุณภาพประชาชน ที่มีสุขภาพดี การดำเนินชีวิตที่ดี โครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะต้องดี เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิตอล ให้เป็นเมืองแห่งโอกาสทางการค้าและการลงทุน
6.การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ รองรับศูนย์กลางการประชุมของภาคเหนือตอนล่าง
7.การพัฒนาบึงราชนกให้เป็นสวนสาธารณะระดับโลก
8.การพัฒนากำจัดขยะแบบครบวงจร
9.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ , ทางธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเกษตรนวัตวิถี
10.โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
โดยให้เริ่มดำเนินการแบบคู่ขนานไปพร้อม ๆ กันในทุกหัวข้อทันทีหลังจบการประชุมครั้งนี้ เช่น การขออนุญาตทางสำนักการบินพลเรือน เพื่อให้มีการทำธุรกรรมแบบสนามบินนาชาติได้ พร้อมเปลี่ยนป้ายชื่อจาก “ท่าอากาศยานพิษณุโลก” เป็น “ท่าอากายานนานาชาติพิษณุโลก” , มีการเปิดเดินทางเป็นสายการบินต่างประเทศเที่ยวแรกภายใน 6 เดือน คือ พิษณุโลก – เวียดนาม ก่อนที่จะวางเป้าหมายไปยังประเทศอื่น ๆ ซึ่งกำหนดไว้ให้มีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวก่อน ในราคาประหยัด โดยใช้จุดแข็งทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ของ จ.พิษณุโลก และจังหวัดรอบข้าง เช่น พิจิตร สุโขทัย เพชรบูรณ์ ตาก ทั้งการเที่ยวตามรอยลุงโฮจิมิน ที่มีความผูกพันอยู่กับชาวภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะพิพิธภัณฑ์ลุงโฮจิมินที่ จ.พิจิตร ซึ่งเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวขาวเวียดนามเป็นอย่างดี และนำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวไทย สู่เวียดนามที่มุ่งไปชมประเพณีวัฒนธรรม ของชาวเวียดนาม และอนาคตก็จะกลายเป็นการค้าขาย ส่งเสริมด้านการลงทุนในอนาคต โดยมี บริษัท นำเที่ยวชั้นนำของประเทศเป็นผู้ดำเนินการ ภายในกรอบของคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งถือว่าการหารือครั้งนี้ เป็นการก้าวไปข้างหน้าแบบจริงจัง ไม่ขาดตอน ทำให้ท่าอากาศยานนานาชาติพิษณุโลก กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปต่างประเทศโดยตรงได้จริง โดยไม่ต้องผ่านสนามบินสุวรรณภูมิอีกต่อไป