น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี พร้อมนายวิทยา สุจิรวรกุล ปศุสัตว์อำเภอท่าใหม่ และนายพรพิทักษ์ พลารักษ์ เจ้าพนักงานสัตวบาล ลงพื้นที่ ฟาร์มชัย ชุมภู ตั้งอยู่ถ.เทศบาลสาย 8 ต.ท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ ซึ่งเลี้ยงควายไทยสายพันธุ์ดี มีลักษณะสวยงาม รวม 11 ตัว ในพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ มูลค่าของควายแต่ละตัวเฉลี่ยตัวละ 1 ล้านบาท เพื่อรณรงค์ฝังไมโครชิพควาย โดยจะฝังที่โคนหางด้านซ้ายของควายทุกตัว ซึ่งจะทำให้ทราบแหล่งที่มาของควาย ใครเป็นเจ้าของ ประวัติการรักษาพยาบาล ประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรค และช่วยในการตรวจสอบหาเจ้าของ กรณีที่มีการลักขโมย หรือใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาอนุญาตให้เคลื่อนย้ายสัตว์ไปท้องที่ต่างๆ รวมทั้งใช้ในการตรวจสอบประวัติสัตว์ ป้องกันการนำแม่ควายตั้งท้องหรือแม่ควายเลี้ยงลูกอ่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การฝังไมโครชิพ จึงช่วยป้องกันการลดลงของประชากรควายได้ ซึ่ง
สาเหตุหนึ่งที่จำนวนประชากรควายลดลงเนื่องมาจากการทำการเกษตรในปัจจุบันเปลี่ยนไป เกษตรกรใช้รถไถนาที่เป็นเครื่องจักรเพิ่มมากขึ้น เพราะทำงานเสร็จเร็วกว่าและสะดวกกว่า จึงขายควายเข้าโรงฆ่า โดยเฉพาะควายเพศเมียและควายอายุน้อย ขณะที่เกษตรกรที่เลี้ยงควายอยู่ก็ไม่ให้ความสนใจในการเลี้ยงดู การปรับปรุงพันธุ์ และการป้องกันโรค ฟาร์มควายชัย ชุมภู เจ้าของเลี้ยงควายไว้เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาควายสายพันธุ์ดี รวมทั้งให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่ผู้สนใจในการเลี้ยงควาย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพัฒนาให้เป็นเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของจังหวัด เพื่อเพิ่มจำนวนควายไทยสายเลือดดี มีลักษณะสวยงามในจังหวัดต่อไป สำหรับ ไมโครชิพที่ฝังในควายเป็นชนิดที่ไม่มีแบตเตอรี่ในตัว แต่รับคลื่นความถี่วิทยุจากเครื่องอ่าน แล้วสะท้อนข้อมูลรหัสเป็นตัวเลข 15 หลัก แสดงบนเครื่องอ่าน ไมโครชิพมีลักษณะเป็นหลอดแก้วมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 มิลลิเมตร ความยาวหลอดแก้ว 13 มิลลิเมตร โดยไมโครชิพจะบรรจุอยู่ในเข็มและไซริงค์ บรรจุปิดผนึกอยู่ในซองที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคพร้อมใช้งานได้ทันที เมื่อฝังแล้วจะอยู่ในร่างกายสัตว์ได้นานตลอดชีวิต โดยไม่ทำปฏิกิริยากับร่างกายสัตว์ ขอเชิญชวนเจ้าของสัตว์ที่เลี้ยงควายในเชิงอนุรักษ์สายพันธุ์ ติดต่อขอขึ้นทะเบียนสัตว์ได้ที่ปศุสัตว์อำเภอ และฝังไมโครชิพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ